วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร



มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร

สงครามระหว่าง ไทย - พม่า ในสมัยพระนเรศวร

ข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นรายละเอียดการศึกสงครามระหว่าง ไทย - พม่า ในสมัยพระนเรศวร ซึ่งทางฝ่ายพม่าได้บันทึกเรื่องราวการสงครามไว้แตกต่างจากหลักฐานทางฝ่ายไทย โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารที่ชำระกันในสมัยธนบุรี - รัตนโกสินทร์ โดยพงศาวดารพม่าฉบับนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ทำการแปลโดย นายต่อ ( หม่องต่อ ) และได้ใช้ชื่อพงศาวดารฉบับนี้ว่า " มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า "

มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร

ฝ่ายพระเจ้ากรุงหงษาวดีก็เสด็จประทับอยู่ที่กรุงอังวะโดยช้านาน 

ขณะนั้นพระนเรศก็ยกกองทัพอยุทธยารวม ๑๒ ทัพ มาช่วยโดยล้าหลัง แต่มีช้างรบมา ๓๐๐ ม้า ๓๐๐๐ พลทหาร ๖๐๐๐๐ เวลานั้นพระนเรศทราบว่าพระเจ้ากรุงหงษาวดีเสด็จขึ้นอยู่ที่กรุงอังวะ พระนเรศหาตามเสด็จไปช่วยทางกรุงอังวะไม่ พระนเรศตรงมาทางกรุงหงษาวดี 
ฝ่ายพระมหาอุปราชผู้รักษากรุงหงษาวดีทรงทราบ พระองค์จึงมีรับสั่งให้ข้าหลวงไปแจ้งความกับพระนเรศว่า บัดนี้พระราชบิดาเสด็จไปตีกรุงอังวะ โดยเหตุนี้ขอพระนเรศตามเสด็จไปยังกรุงอังวะเทอญเมื่อข้าหลวงไปพูดดังนั้นพระนเรศก็ไม่ฟัง พระนเรศตรงยกเข้ามาตีกรุงหงษาวดี 
ฝ่ายพระมหาอุปราชเห็นว่าพระนเรศไม่ซื่อตรงต่อพระองค์ ๆ จึงมีรับสั่งให้ขุนนางข้าราชการนายทัพนายกองทั้งปวงขึ้นรักษาบนเชิงเทินกำแพงเมือง เวลานั้นครั้นพระนเรศยกมาถึงกรุงหงษาวดีก็ตั้งค่ายล้อมกรุงหงษาวดีไว้ 
ขณะนั้นฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีก็ทรงยกกองทัพกลับยังกรุงหงษาวดีแต่ยังมิทันเสด็จถึง ฝ่ายพระนเรศทราบว่าพระเจ้ากรุงหงษาวดีเสด็จกลับมายังกรุงหงษาวดี พระนเรศก็ไม่อาจจะตั้งค่ายอยู่ที่กรุงหงษาวดีแล้วพระนเรศก็กลับไปทางมุตมะเที่ยวเก็บต้อนพวกราษฎรชายหญิงทั้งฝั่งตวันออกนั้นไปยังกรุงศรีอยุธยาเปนอันมาก 
ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีทรงทราบว่าพระนเรศกระทำดังนั้น พระองค์ก็ทรงจัดให้พระยาจันทร์โตทัพ ๑ แล๊ดต่อเชลอถิงทัพ ๑ พระยาปราณทัพ ๑ ภะยะกามณีทัพ ๑ รวม ๔ ทัพนี้ ช้างรบ ๔๐๐ ม้า ๔๐๐๐ พลทหาร ๕๐๐๐๐ มีรับสั่งให้รีบยกจากกรุงอังวะไปตามตีพระนเรศ 
ครั้นพระองค์ทรงจัดให้กองทัพยกไปแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงมากรุงหงษาวดี ครั้นเสด็จถึงกรุงหงษาวดี พระองค์ทรงพระดำริห์เห็นว่ากองทัพที่ยกไปตีพระนเรศนั้นยังน้อยนัก พระองค์จึงทรงจัดให้สมิงลครอินทัพ ๑ ราชสังจรันทัพ ๑ สมิงแรสังรันทัพ ๑ นันทจอถิงทัพ ๑ พระญาลอทัพ ๑ ศิริธรรมโสกทัพ ๑ พระมหาอุปราชพระราชโอรสทัพ ๑ รวม ๗ ทัพนี้ ช้างรบ ๕๐๐ ม้า ๕๐๐๐ พลทหาร ๗๐๐๐๐ ครั้นทรงจัดเสร็จแล้วมีรับสั่งให้รีบยกไปบรรจบกับพระยาจันโตซึ่งยกไปก่อนนั้นครั้นกองทัพยกไปถึงตำบลบ้านจุกครีฝั่งเหนือกรุงศรีอยุธยาก็ตั้งค่ายลงที่ตำบลจุกครีนั้น 
ฝ่ายพระนเรศทราบก็ยกพลทหารออกมาตีกองทัพกรุงหงษาวดี ๆ เสียทีก็แตกย่นลงมา กิติศัพท์อันนั้นทรงทราบไปถึงพระเจ้ากรุงหงษาวดี ๆ ทรงดำริห์เห็นว่ากรุงศรีอยุทธยานี้ ซึ่งจะตีเอาโดยง่ายนั้นไม่ได้ประการหนึ่งพลทหารที่ยกไปนี้ก็ยังน้อยนักแลจวนฤดูฝนจะลงแล้วด้วยครั้นพระองค์ทรงพระดำริห์ดังนั้นแล้ว พระองค์ก็มีรับสั่งให้มหาอุปราชพระราชโอรสยกกองทัพกลับยังกรุงหงษาวดี 
ฝ่ายพระนเรศทราบว่ากองทัพกรุงหงษาวดีกลับก็มีความยินดีแล้วพูดว่าบัดนี้อุปราชกลับแล้ว ถ้าสืบไปความที่เราคิดไว้นั้นคงจะสำเร็จตามความประสงค์เราเปนแน่แท้ 

มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร

ครั้นถึงเดือน ๕ จุลศักราช ๙๔๗ พระเจ้าหงษาวดีทรงจัดให้กองทัพยกไปตีกรุงศรีอยุทธยาอีก ด้วยพระองค์ทรงจัดให้แล๊ดเชจอถิงทัพ ๑ พระยาจันโตทัพ ๑ ภะยะกามณีทัพ ๑ พระยาลอทัพ ๑ นันทจอถิงทัพ ๑ พระยาปราณทัพ ๑ นันทสุริยทันทัพ ๑ สมิงสังจายทัพ ๑ ศิริเชยะจอถิงทัพ ๑ พระยาพาตทัพ ๑ ศิริธรรมโสกทัพ ๑ ทางเมืองเชียงใหม่นั้น คือพระยาแสนหลวงทัพ ๑ พระยาสันลันทัพ ๑ พระยาน่านทัพ ๑ สมิงพลีทัพ ๑ สมิงแรสังรันทัพ ๑ สมิงลครอินท์ทัพ ๑ พระยาตุไรทัพ ๑ มหาอุปราชทัพ ๑ รวม ๑๙ ทัพ ๆ นี้ช้างรบ ๑๐๐๐ ม้า ๑๑๐๐๐ พลทหาร ๑๐๒๐๐๐ ครั้นทรงจัดเสร็จแล้วทรงให้ยกไปตีกรุงศรีอยุทธยา ครั้นยกไปถึงตำบลละคร 
ฝ่ายพระนเรศเจ้าอยุทธยาทราบจึงจัดพลทหาร รวม ๑๑ ทัพ ยกออกมารับ 
ฝ่ายนันทะจอถิง ภะยะกามณี พระยาจันโต แล๊ดเชจอถิง ๔ ทัพนี้ได้แยกกันออกตีกองทัพพระนเรศ ทัพหน้าพระนเรศทนไม่ได้ก็แตกย่นลงไปถึงที่ตำบลจุกครี ฝ่ายพลทหารกรุงหงษาวดีเห็นว่าได้ทีก็ตามตีก็จับช้างของพระนเรศไว้ได้ ๓๐ เศษ กับพลทหาร ๒๐๐๐ เศษ 
ฝ่ายพระนเรศก็เข้าตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลจุกครีในค่ายเก่าของพม่าที่ยกกองทัพมาครั้งก่อนนั้น จึงได้ตั้งค่ายทัน 
ฝ่ายพลทหารกรุงหงษาวดีก็เข้าตีค่ายพระนเรศครั้งหนึ่งสองครั้งก็ไม่ได้ เพราะทนลูกกระสุนปืนของพระนเรศไม่ไหวจึงต้องถอยมาตั้งมั่นอยู่ ครั้นตั้งอยู่ที่นั่นประมาณเดือน ๑ พระมหาอุปราชก็มีรับสั่งให้ขุนนางข้าราชการนายทัพนายกองทั้งปวงเข้าเฝ้าแล้วทรงตรัสว่าบัดนี้เราได้เข้าตีกองทัพอยุทธยาก็ไม่แตก กองทัพอยุทธยาก็ไม่ออกมาตีซึ่งตั้งมั่นอยู่เช่นนี้ เราเห็นว่าถ้าตั้งอยู่เช่นนี้ช้านานเห็นจะไม่ได้เพราะเสบียงอาหารเบาบางน้อยลงแล้ว พวกบรรดาพลทหารก็จะได้ความลำบากอดอยากเปนแน่ ภายหลังจะถอยทัพก็จะเปนที่ลำบาก 
เพราะฉนั้นเราจะรออยู่เช่นนี้ไม่ได้ จะได้จะเสียประการใดก็รีบยกตีเสียโดยด่วนจึงจะสำเร็จราชการเร็ว 
เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งดังนั้นพระยาแสนหลวงทูลว่า บัดนี้ถ้าฝ่ายเราจะเข้าตีกองทัพอยุทธยาเล่าข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าค่ายของอยุทธยานั้นแน่นหนามั่นคงนัก ประการหนึ่งคูก็กว้างขวาง สาตราอาวุธก็มาก แล้วฝ่ายทหารนายทัพนายกองของเขาก็แข็งพร้อมมือกันไม่คิดแก่ชีวิตร์ แลที่จะตายนั้นเขาไม่กลัว เขากลัวแต่นายของเขาเปนกำลัง บัดนี้ที่พระองค์รับสั่งจะออกรบนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า คงไม่มีไชยชะนะเปนแน่ เพราะเปนบ้านเมืองของเขาเขาจะไม่ออกรบ ฝ่ายเราก็ไม่รู้ที่จะทำอย่างไรดุจเข็นครกขึ้นเขา ประการหนึ่งเวลานี้เสบียงอาหารก็เบาบางน้อยลงแล้ว โดยเหตุนี้ขอพระองค์ล่าทัพถอยจึงจะควร 
เมื่อพระยาแสนหลวงทูลดังนั้น มหาอุปราชก็เห็นชอบด้วย แล้วพระองค์ก็ทำเปนจะล่าทัพฬอให้พระนเรศตามตี ในเวลานั้นพระองค์ทรงจัดให้ภะยะกามณี ๑ นันทจอถิงทัพ ๑ สมิงแรสสังทัพ ๑ สมิงลครอินทัพ ๑ พระยาแสนหลวงทัพ ๑ รวม ๖ ทัพ ๆ นี้ช้างรบ ๓๐๐ ม้า ๔๐๐๐ พลทหาร ๖๐๐๐๐ ให้ตั้งคอยตีกองทัพพระนเรศฝ่ายขวา แล้วพระองค์ทรงจัดให้พระยาปราณทัพ ๑ นันทศิริยทัพ ๑ สมิงมังจายะทัพ ๑ ศิริธรรมโสกทัพ ๑ พระยาน่านทัพ ๑ รวม ๖ ทัพ ๆ นี้ช้างรบ ๓๐๐ ม้า ๔๐๐๐ พลทหาร ๖๐๐๐๐ ให้ตั้งคอยตีกองทัพพระนเรศฝ่ายซ้าย 
ครั้นแล้วพระองค์ทรงจัดให้แล๊ดเชจอถิงทัพ ๑ พระยาปรีทัพ ๑ ศิริไชยจอถิงทัพ ๑ พระยาพาตทัพ ๑ พระยาตุไรทัพ ๑ พระยาสังรันทัพ ๑ มหาอุปราชทัพ ๑ รวม ๗ ทัพๆ นี้มีช้างรบ ๔๐๐ ม้า ๑๐๐๐ พลทหาร ๖๐๐๐๐
ฝ่ายพระนเรศเห็นว่า กองทัพกรุงหงษาวดีกลับก็ยกตามตี ครั้นใกล้ก็เห็นกองทัพขวาภะยะกามณีตีเข้ามา แต่เจ้าอยุทธยาหามาตีกองขวาไม่ กลับตลบไปตีกองซ้าย ฝ่ายพระยาปราณ แลนันทจอถิง ทนฝีมือกองทัพอยุทธยาไม่ได้ ก็แตกระส่ำระสายไม่เปนขบวน แล้วพระนเรศเลยเข้าตีกองกลาง ๆ ก็แตก กับเลยไปตีภะยะกามณีกองขวาทนฝีมือภะยะกามณีไม่ได้ แล้วเห็นว่ากองทัพภะยะกามณีแน่นหนานักพระนเรศก็ถอย ในขณะนั้นพระนเรศก็เข้าจับพลทหารแลช้างม้ากรุงหงษาวดีที่แตกอยู่นั้นกลับไปยังค่าย 
ฝ่ายภะยะกามณี ๖ ทัพ ก็เที่ยวเก็บไพร่พลทหารแลช้างม้าที่แตกทัพนั้นรวบรวม แล้วก็เฝ้ามหาอุปราชแล้วพร้อมกันทูลว่า ในคราวนี้ถึงแม้สมเด็จพระเจ้ากรุงหงษาวดีมิได้มีรับสั่งเรียกกลับก็ดี แต่พระองค์ทรงเสด็จกลับเสียก่อนเทอญ เมื่อนายทัพนายกองทูลดังนั้นพระองค์ก็ทรงเก็บรวบรวมพลทหารแล้วก็เสด็จกลับกรุงหงษาวดีในเดือน ๙ จุลศักราช ๙๔๘ 
ครั้นเดือน ๔ จุลศักราช ๙๔๘ ปีนั้น พระเจ้ากรุงหงษาวดีพระองค์มีรับสั่งให้ขุนนางทั้งปวงเข้าเฝ้า แล้วพระองค์ทรงตรัสว่า บัดนี้เราได้ใช้พลทหารยกไปตีและปราบปรามพวกขบถอยุทธยาหลายครั้งแล้วก็ยังไม่สำเร็จราชการเลย เพราะฉนั้นพวกเราจะเห็นประการใดที่จะให้อยุทธยาราบคาบเรียบร้อย เมื่อพระองค์ทรงตรัสดังนั้น พระยาจันโตทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ปราบปรามให้กรุงศรีอยุทธยาเรียบร้อยแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าพวกบรรดาหัวเมืองเช่นเมืองลาว เมืองล้านช้าง เมืองละโว้ เมืองเวียงจันบุรี ลาวญวน ก็จะกระด้างกระเดื่องแข็งเมืองขึ้นเปนแน่ โดยเหตุนี้ขอพระองค์ทรงเสด็จยกพยุหโยธาทัพใหญ่เปนศึกพระมหากระษัตริย์ไปจึงจะควร ถ้าหาไม่แล้วสืบไปเบื้องหน้าพระเจ้าลูกและพระเจ้าหลานก็จะไม่ได้สืบตระกูลครองราชสมบัติต่อไปเปนแน่ อนึ่งพระราชบิดาของพระองค์ที่สวรรคตนั้น พระองค์ได้ทรงเที่ยวตีเมืองใหญืและเมืองน้อยไว้ มิได้เห็นแก่ความลำบากนั้นพระองค์ก็ตั้งพระไทยให้เปนมรฎกแก่พระเจ้าลูกและพระเจ้าหลานเท่านั้น 
เพราะฉนั้นพระองค์ทรงเสด็จยกกองทัพใหญ่ไปปราบปรามพวกขบถ เพื่อจะได้เปนเกียริยศเบื้องหน้าไว้จึงจะควร เมื่อพระยาจันโตทูลดังนั้นพระองค์ทรงเห็นชอบด้วย 
แล้วพระองค์ทรงตรัสให้นันทจอถิงทัพ ๑ สมิงแรสังรันทัพ ๑ พระยาปราณทัพ ๑ แล๊ดเชจอถิงทัพ ๑ พระยาลอทัพ ๑ นันทสุริยะทัพ ๑ ศิริไชยจอถิงทัพ ๑ สมิงนครอินท์ทัพ ๑ ภะยะกามณีทัพ ๑ พระยาพาตทัพ ๑ ศิริไชยนรทาทัพ ๑ สมิงงอฝางทัพ ๑ ราชสังจรันทัพ ๑ แอมอญตราทัพ ๑ เนมะโยจอถิงทัพ ๑ สมิงสังจายะทัพ ๑ ศิริธรรมโสกทัพ ๑ ตองงูบุเรงทัพ ๑ ( ตองงู บุเรงนี้แปลว่ากรม ตองงูนั้นคือเมือง ) สาดอนัดชินหน่องพระราชบุตร์ของตองงูบุเรงทัพ ๑ เกณฑ์ทางฝ่ายเชียงใหม่นั้น คือพระยาแสนหลวงทัพ ๑ พระยาน่านทัพ ๑ พระยาแพร่ทัพ ๑ พระยาตุไรทัพ ๑ แล้วพระองค์ก็ทรงเสด็จด้วยกระบวนใหญ่ ยกไปตีกรุงศรีอยุทธยา แต่ ๒๔ ทัพนี้ช้างรบ ๑๒๐๐ ม้า ๑๒๐๐๐ พลทหาร ๒๕๒๐๐๐ ทรงเสด็จยก ณ วัน ๑ ฯ ๑๒ จุลศักราช ๙๔๘ แต่ที่กรุงหงษาวดีนั้นให้อุปราชพระราชโอรสอยู่รักษากรุง 
ขณะนั้นฝ่ายพระนเรศเจ้าอยุทธยาทราบว่าพระเจ้าหงษาวดีได้ทรงเสด็จยกพยุหโยธาทัพใหญ่มามากมายนัก พระนเรศจึงเที่ยวเก็บเสบียงแลพลทหารแลพลเมืองที่มีฝีมือเอาเข้าในเมืองสิ้น แล้วปิดประตูเมืองลงเขื่อนไว้โดยแน่นหนามั่นคง 

มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร

ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีครั้นเสด็จมาถึงกรุงศรีอยุทธยาก็ทรงจัดให้พลทหารแลนายทัพนายกองทั้งปวงแยกย้ายกันเข้าตีทุกทิศทุกทาง 
ฝ่ายข้างพระนเรศก็ขับให้พลทหารเอาปืนใหญ่น้อยยิงระดมออกมาถูกพลทหารกรุงหงษาวดีล้มตายนับมิถ้วน 
ฝ่ายพระเจ้าหงษาวดีมิอาจสามารถที่จะตีเอาเมืองได้ ก็เปนแต่ล้อมเมืองไว้ แต่การที่ล้อมนั้นก็ล้อมไม่สู้จะเรียบร้อยทั่วถึงกันได้เพราะแม่น้ำทวาราวดีกว้าง ครั้นล้อมอยู่ประมาณ ๔-๕ เดือน พวกบรรดาพลทหารทั้งปวงก็ได้ความลำบากอดอยากแลเจ็บป่วยล้มตายกันขึ้นเปนอันมาก 
ฝ่ายข้างพระนเรศทราบว่าพวกพลทหารข้างกรุงหงษาวดีอดอยากเจ็บป่วยล้มตายแลการที่ล้อมนั้นก็อ่อนแอเบาบางลงมาก พระนเรศจึงได้ยกออกตีบ้าง ยกออกปล้นค่ายบ้าง ครั้นอยู่ได้ ๔-๕ วันยกออกตีอิก พระนเรศเปนแต่ออกตีอยู่ดังนั้น พลทหารกรุงหงษาวดีก็ถูกสาตราอาวุธตายบ้าง อดตายบ้างเปนอันมาก พระเจ้าหงษาวดีพระองค์ทรงเห็นดังนั้น พระองค์จึงรับสั่งให้ขุนนางข้าราชการทั้งปวงเข้าเฝ้าแล้วทรงตรัสว่าบัดนี้เราได้ยกกองทัพมาตีกรึงศรีอยุทธยานั้นเราเสียทีฝ่ายเดียว การที่เราเสียทีนั้น คือชั้นแรกเราปล่อยให้ข้าศึกเก็บรวบรวมเสบียงอาหารเข้าไว้ในเมืองอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นธรรมดาทัพนั้นข้างฝ่ายหนึ่งถึงแม้ว่าจะน้อยตัวก็ดีถ้าเขามีเสบียงอาหารพอเพียง แลมีที่ตั้งมั่นคงดีแล้วฝ่ายข้างที่ไม่มีเกณฑ์อะไรเปนที่ตั้งนั้นก็ย่อมเสียเปรียบกันอยู่เอง โดยเหตุนี้พวกเจ้าจะคิดทำประการใดจึงจะควร 
เมื่อพระองค์มีรับสั่งถามดังนั้น ในเวลานั้นแล๊ดเชจอถิงกราบบังคมทูลว่า บัดนี้พระองค์ได้มาล้อมกรุงศรีอยุทธยาไว้นั้นประมาณ ๗ เดือน แล้วก็ยังหามีไชยชะนะสักครั้งหนึ่งเลย เพราะค่ายคูประตูหอรบกรุงศรีอยุทธยานี้มั่นคงแข็งแรงนัก ประการหนึ่งเล่าคูเมืองแลแม่น้ำก็กั้นอยู่กว้างและลึกนัก โดยเหตุฝ่ายข้างพระองค์ทำการไม่ถนัด อิกประการหนึ่งเวลานี้พวกพลทหารทั้งปวงก็เจ็บไข้ได้พยาธิ แลอดอยากล้มตายเปนอันมากแล้ว เพราะฉนั้นขอพระองค์ทรงเสด็จกลับยังมหานครเสียก่อน ปีนี้ก็จวนฤดูฝนจะลงแล้ว เมื่อปีหน้าฟ้าใหม่จึงทรงเสด็จยกพร้อมกับพวกเจ้าประเทศราชทั้งปวงเปนพยุหใหญ่มาตีก็จะมีไชยชนะกรุงศรีอยุทธยาเปนมั่นคง 
เมื่อแล๊ดเชจอถิงทูลดังนั้น พระองค์ก็ทรงเห็นชอบด้วย แล้วพระองค์ทรงจัดให้พระยาปราณควบคุมพวกบรรดาพลทหารที่เจ็บป่วยนั้นให้รีบยกไปก่อน แล้วทรงจัดให้นัดชินหน่องราชบุตร์ของตองงูบุเรงเปนทัพหลังสำหรับป้องกัน แต่พระองค์ก็มีรับสั่งให้ทัพหลังตามเสด็จเดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จุลศักราช ๙๔๙ แต่พระองค์ได้ทรงเสด็จยกตั้งแต่เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ 
ฝ่ายพระนเรศทราบว่าพรเจ้าหงษาวดีเสด็จกลับ พระนเรศจัดพลทหาร ๑๕ ทัพรีบตามตี ครั้นตามมาถึงตำบลบ้านท่าล้อใหม่แถบอันตอ ( แถบอันตอ ๆ นี้ไม่ได้ความ ) พระนเรศก็ทันทัพเข้าก็เข้าตีกองทัพนัดชินหน่อง ๆ ก็กลับตีเอากองทัพพระนเรศถอยกลับไปตำบลบ้านอันตอ แต่พระเจ้าหงษาวดีเสด็จถึงกรุงหงษาวดี ณ วัน ๓ ฯ ๘ จุลศักราช ๙๔๙ 

มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร

ครั้นจุลศักราช ๙๕๒ ปี เจ้าประเทศราชเงี้ยวเจ้าฟ้าเมืองก่องเปนขบถ ครั้นพระองค์ทรงทราบ พระองค์จึงมีรับสั่งให้ขุนนางข้าราชการทั้งปวงเข้าเฝ้า แล้วทรงรับสั่งเรื่องเปนขบถนั้น ศิริไชยนรทากราบบังคมทูลว่า ซึ่งเกิดเปนขบถนี้ ควรจัดให้ยกทัพไปตีเสียกองหนึ่งแต่ที่พระนเรศกรุงศรีอยุทธยาเปนขบถนั้นพระองค์ทรงเสด็จยกไปตีหลายครั้งแล้วก็ยังไม่มีไชยชะนะสักครั้ง 
เพราะฉนั้นข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงปราบปรามให้พวกขบถเหล่านี้ราบคาบแล้ว ไปภายหลังประเทศราชลาวญวนทั้งปวงก็จะกระด้างกระเดื่องขึ้นเปนแน่ โดยเหตุนี้ขอพระองค์ทรงจัดให้ไปตีกรุงศรีอยุทธยาอิกกองหนึ่งจึงจะควร 
เมื่อศิริไชยนรทาทูลดังนั้น พระองค์ทรงเห็นชอบด้วย แล้วพระองค์ทรงจัดให้นัดชินหน่องกับสะโตธรรมราชาพระราชโอรส เปนแม่ทัพคุม ๑๓ ทัพ รวมพลทหาร ๑๐๐๐๐๐ กับช้างรบ ๕๐๐ ม้า ๑๖๐๐๐ สรรพด้วยสาตราอาวุธ ครั้นเดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ก็รับสั่งให้ยกไปตีเจ้าฟ้าเมืองก่อง 
แล้วทรงจัดให้มหาอุปราชพระราชโอรสเปนแม่ทัพคุม ๒๔ ทัพ ๆ นี้มีพลทหาร ๒๐๐๐๐ ช้าง ๑๐๐๐ ม้า ๑๒๐๐๐ สรรพด้วยสาตราอาวุธยกไปตีกรุงศรีอยุทธยา ยกเดือน ๑๒ แรม ๑๒ค่ำ
จุลศักราช ๙๕๒ ปี ครั้นยกไปถึงตำบลบ้านลคร พระนเรศนั้นซุ่มอยู่ในป่าด้วยช้างมีกำลัง ๖๐ ตัวกับนายทัพนายกองที่มีฝีมือ ๖๐ คน 
ฝ่ายมหาอุปราชก็ไม่ทรงทราบกลอุบายของพระนเรศก็ขับให้พลทหารเข้าตีกองทัพพระนเรศเป็นสามารถ
ฝ่ายกองทัพพระนเรศก็ทำเป็นแตกถอยฬอไป ฝ่ายกองทัพหงษาวดีเห็นได้ทีก็รุกเข้าไป 
ขณะนั้นฝ่ายพระนเรศเห็นได้ทีก็ออกจากป่าตีกระหนาบเข้ามาทั้ง ๒ ข้างเปนสามารถ กองทัพหงษาวดีทนมิได้ก็แตกทั้ง ๒๔ ทัพ พลทหารที่เจ็บป่วยล้มตายก็เปนอันมาก แล้วพระนเรศก็จับตัวเจ้าภูกามเจ้าพสิมไว้ได้ 
ฝ่ายมหาอุปราชก็หนีเอาตัวรอดไปเฝ้าพระราชบิดาที่กรุงหงษาวดีแล้วพลทหารที่แตกกระจัดกระจายนั้นก็ไม่อาจสามารถที่จะคุมไปได้ 
ครั้นนายทัพนายกองไปถึงพร้อมพระเจ้ากรุงหงษาวดีก็ทรงพระพิโรธ พระมหาอุปราชก็ต้องโทษ นายทัพนายกองเหล่านั้นก็ต้องโทษที่ถูกประหารชีวิตร์ก็มี 

มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร

ในจุลศักราช ๙๕๓ พระเจ้าหงษาวดีพระองค์ทรงราบว่าพระนเรศจะยกพลมาตีกรุงหงษาวดี แล้วพระองค์ทรงรับสั่งว่า ซึ่งพระนเรศจะยกมาตีกรุงหงษาวดีนั้น เพราะฝ่ายเราได้ยกไปตีกรุงศรีอยุทธยามิได้มีไชยชะนะสักครั้งหนึ่งเลย โดยเหตุนี้พระนเรศได้ใจกำเริบจะยกมาตีกรุงหงษาวดี แล้วพระองค์รับสั่งให้นายทัพนายกอง ๓๒ เมืองซึ่งขึ้นในมณฑลเมืองมุตมะนั้นยกไปคอยรับที่ตำบลวังยอ 
ฝ่ายพระนเรศก็ได้จัดให้ออกยาวังเปนแม่ทัพคุม ออกยาสวรรคโลก ๑ ออกยาพิไชย ๑ ออกยาพิศณุโลก ๑ รวม ๔ ทัพ ๆ นี้มีช้างรบ ๔๐๐ ม้า ๔๐๐๐ พลทหาร ๕๐๐๐๐ ครั้นยกมาถึงตำบลวังยอ ฝ่ายกองสอดแนมหงษาวดีทราบจึงได้นำความมาแจ้งแก่แม่ทัพหงษาวดี ๆ ก็ยกไปถึงตำบลวังยอก็ขับให้พลทหารเข้าตีมิได้คิดแก่ชีวิตร์ 
ฝ่ายกองทัพพระนเรศทนฝีมือไม่ได้ก็แตกถึงกับต้องพังกำแพงเมืองหนีไปในคืนวันนั้น พวกกองทัพหงษาวดีก็ตามไปตี ๒-๓ ตำบลก็ไม่ทัน ครั้นแล้วพวกกองทัพหงษาวดีก็กลับมาทูลพระเจ้าหงษาวดีตามเหตุผลที่ได้กระทำยุทธนานั้น พระเจ้าหงษาวดีก็มีพระไทยยินดีเปนอันมาก แล้วพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคให้พอสมควร ในปีนั้นพระเจ้าหงษาวดีทรงเห็นว่ากำแพงเมืองแลประตูหอรบที่กรุงหงษาวดีนั้นไม่สู้แน่นหนานัก พระองค์จึงมีรับสั่งให้พังกำแพงเมือง แล้วรับสั่งให้ช่างทำกำแพงเมืองและประตูหอรบให้เหมือนแบบกรุงศรีอยุทธยาทุกประการ 
ครั้นเดือน ๑๐ จุลศักราช ๙๕๕ พระเจ้าหงษาวดีพระองค์รับสั่งให้ขุนนางข้าราชการทั้งปวงแลพระมหาอุปราชพระราชโอรสเปนต้นให้เข้าเฝ้า แล้วพระองค์ทรงตรัสว่าพวกเจ้าทั้งหลายนี้เราได้ชุบเลี้ยงให้ยศศฤงฆารเปนอันมาก พวกเจ้าทั้งหลายหาตั้งใจที่จะฉลองพระเดชพระคุณแก่เราไม่ เราได้ใช้พวกเจ้ายกกองทัพเปนพยุหใหญ่ไปตีพระนเรศเด็กน้อยที่กรุงศรีอยุทธยาหลายครั้งก็ไม่มีไชยชะนะแก่พระนเรศเด็กน้อยสักครั้งหนึ่งเลย เพราะพวกเจ้าไปกระทำยุทธนาอ่อนแอพระนเรศจึงมีใจกำเริบ 
เพราะฉนั้นในครั้งนี้พวกเจ้าจงตั้งใจยกพยุหใหญ่ไปตีพระนเรศที่กรุงศรีอยุทธยาอิกเทอญ เราเห็นว่าถ้าพวกเจ้าตั้งใจจริง ๆ แล้วอย่าว่าแต่พระนเรศเล็กน้อยเท่านี้เลย ถึงแม้ยิ่งกว่าพระนเรศหลายเท่าก็ทนฝีมือไม่ได้ เมื่อพระองค์มีรับสั่งดังนั้น พระยาลอจึงกราบบังคมทูลว่า ถ้าจะเปรียบไปแล้วกำลังแลทหารของพระนเรศนั้น ๑๐ ส่วนจะเอาสักส่วนหนึ่งของพระองค์นั้นไม่ได้ก็จริงอยู่ แต่ว่าพระนเรศนี้มีอานุภาพกล้าหาญนัก เมื่อเห็นกองทัพฝ่ายหนึ่งเข้าแล้วพลทหารของพระนเรศมิได้ย่อท้อกลัวเกรงแก่ข้าศึกเลย เขากลัวแต่เจ้าของเขาเท่านั้น เพราะฉนั้นข้างฝ่ายพลทหารของพระองค์จะเอาไชยชะนะนั้นยากนักธรรมดาพลซึ่งจะว่ามากว่าน้อยนั้นไม่ได้ต้องอาไศรยกล้าหาญตั้งใจจริง ๆ จึงจะมีไชยชะนะ โดยเหตุนี้ขอพระองค์ทรงจัดตั้งแลกำชับให้มหาอุปราชพระราชโอรสเปนแม่ทัพให้ใช้โดยกำลังแข็งแรงกล้าหาญในการสงครามจึงจะควร ประการหนึ่งพระราชบุตร์ของพระองค์อิก ๒ พระองค์เปนยกกระบัตร์ทัพเปนปลัดทัพยกไปตีกรุงศรีอยุทธยาด้วยพลเปนอันมากแล้ว ก็เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจะมีไชยชะนะพระนเรศเปนแน่แท้ 
พระยาลอทูลดังนั้น พระเจ้าหงษาวดีก็ทรงเห็นชอบด้วยแล้วทรงจัดให้มหาอุปราชพระราชโอรสเปนแม่ทัพ ทรงตรัสให้สะโตธรรมราชาพระราชโอรสองค์เล็กเปนปลัดทัพ ทรงตรัสให้นัดชินหน่องเปนยกกระบัตร์ทัพ รวมทั้งสิ้น ๒๖ ทัพ ๆ นี้ช้างรบ ๑๕๐๐ ม้า ๒๐๐๐๐ พลทหาร ๒๔๐๐๐๐ มีรับสั่งให้ยกจากกรุงหงษาวดีไปตีกรุงศรีอยุทธยาใน ณ วัน ๔ ฯ ๑ จุลศักราช ๙๕๕ ครั้นเดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ มหาอุปราชก็เสด็จถึงกรุงศรีอยุทธยา 

มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร

ในขณะนั้นมหาอุปราชทรงช้างชื่อภูมิจุน ปีกขวานั้นรับสั่งให้สะโตธรรมราชาพระอนุชาคุมพลทหารคอยตั้งรบ ปีกซ้ายนั้นรับสั่งนัดชินหน่องคุมพลทหารคอยตั้งรบ แล้วรับสั่งให้เจ้าเมืองชามะโยขี่ช้างชื่อป๊อกจ่อไชยะ ๆนี้กำลังตกน้ำมัน ๆ โทรมหน้าถึงกับต้องเอาผ้าปิดหน้าไว้แล้วพระองค์รับสั่งให้คอยอยู่ข้างซ้ายข้างพระที่นั่งของพระองค์ 
ฝ่ายพระนเรศก็ขี่ช้างชื่อพระละภูมิออกมาพร้อมกับพลทหารครั้นยกมาใกล้พระนเรศเห็นมหาอุปราชทรงช้างยืนคอยอยู่ พระนเรศก็ขับช้างตรงเข้าไปจะชนช้างกับมหาอุปราช เวลานั้นเจ้าเมืองชามะโยเห็นพระนเรศตรงเข้ามาดังนั้น ชามะโยก็ขับช้างที่ตกน้ำมันนั้นจะออกรบ พอเปิดผ้าที่ปิดหน้าช้างไว้แล้วไสช้างนั้นเข้าชนกับช้างพระนเรศช้างนั้นหาชนช้างพระนเรศไม่ กลับมาชนช้างทรงของมหาอุปราชเข้า มหาอุปราชก็ไม่เปนอันที่จะรบกับพระนเรศ มัววุ่นอยู่กับช้างที่ตกน้ำมันนั้นเปนช้านาน เวลานั้นพลทหารของพระนเรศก็เอาปืนใหญ่ยิงระดมเข้ามา ลูกกระสุนก็ไปต้องมหาอุปราช ๆ ก็สิ้นพระชนม์ที่คอช้างพระที่นั่งนั้น ในเวลานั้นตุลิพะละพันท้ายขช้างเห็นว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ก็ค่อยประคองพระมหาอุปราชพิงไว้กับอานช้างเพื่อมิให้พระนเรศรู้แล้วถอยออกไป ขณะนั้นพระนเรศก็ไม่รู้ว่ามหาอุปราชสิ้นพระชนม์ พระนเรศจึงไม่อาจจะตามรบ 
ในเวลานั้นนัดชินหน่องซึ่งเปนพระราชอนุชาของมหาอุปราชปีกซ้ายก็ทรงช้างชื่ออุโปสภาเข้าชนกับช้างพระนเรศ ๆ ทนกำลังมิได้ก็ถอย 
ขณะนั้นสะโตธรรมราชาพระอนุชาปีกขวาแลเจ้าเชียงใหม่พระอนุชาของมหาอุปราชก็ช่วยกันตีทัพพระนเรศ เวลานั้นครั้นนายทัพนายกองหงษาวดีเห็นดังนั้นต่างคนต่างก็ช่วยกันตีเข้าไปมิได้คิดแก่ชีวิตร์กองทัพพระนเรศก็แตกถอยไป พวกกองทัพหงษาวดีก็ตามตีเข้าไปถึงคูเมือง พระนเรศก็หนีเข้าเมืองไปได้แล้วก็ตั้งมั่นในเมือง ในเวลาที่รบกันนั้นพลทหารพระนเรศจับตัวนายทหารหงษาวดีไว้ได้ คือ เจ้าเมืองถงโบ่นายทหารปีกซ้ายหนึ่ง ๑ กับเจ้าเมืองวังยอ นายทหาร ๒ คนนี้เพราะตามเลยเข้าไปเขาจึงจับไว้ได้ 
แล้วฝ่ายนายทหารนัดชินหน่องก็จับอำมาตย์ของอยุทธยาไว้ได้ คือ พระยาพาต ๑ พระยาจักร์ ๑ 
ครั้นแล้วพระอนุชา ๓ พระองค์จึงทรงทราบว่าพระมหาอุปราชพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ พระอนุชา ๓ พระองค์ก็มีรับสั่งให้ถอยกองทัพไปจากค่ายเก่าประมาณทาง ๑๐๐ เส้น แล้วตั้งค่ายลง ณ ที่ตำบลนั้น แล้วพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเปนพระอนุชาและพระอนุชา ๒ พระองค์นั้นได้มีรับสั่งให้ขุนนางข้าราชการนายทัพนายกองเข้าเฝ้าแล้วทรงตรัสว่าจะเอาพระศพของพระมหาอุปราชทำเมรุ ณ ตำบลนี้หรือ ๆ จะเอาพระศพไปยังกรุงหงษาวดี ใครเห็นควรอย่างใดบ้าง 
เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่มีรับสั่งดังนั้นสะโตธรรมราชาซึ่งเปนพระอนุชาทูลว่า บัดนี้พระเชษฐาธิราชก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว 
เพราะฉนั้นเราจะทำยุทธนากับพระนเรศเจ้าอยุทธยาต่อไปนั้นเห็นว่าไม่ควร ประการหนึ่งซึ่งจะกระทำเมรุ ณ ที่ตำบลนี้นั้นก็จะกระไรอยู่ แลเห็นว่าพระราชบิดาก็จะมีความน้อยพระไทยทรงติเตียนได้ 
โดยเหตุนี้ขอเอาพระศพของพระเชษฐากลับไปกรุงหงษาวดีก่อนจึงจะควร อนึ่งในเวลานี้ฝ่ายเราก็ยังมีไชยชะนะอยู่บ้าง ต่อเมื่อสิ้นฤดูฝนจึงยกมาทำยุทธนาการกับพระนเรศพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาอิกก็จะมีไชยชะนะเปนแน่ 
เมื่อสะโตธรรมราชาทูลดังนั้น พระเจ้าเชียงใหม่แลพระเจ้าตองงูและขุนนางข้าราชการนายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นชอบพร้อมกัน 
ครั้นแล้วเอาพระศพมหาอุปราชนั้นใส่ในพระโกษทำด้วยไม้มะม่วงแล้วเอาปรอทกลอกเสร็จแล้วก็เชิญพระศพมหาอุปราชแลยกกองทัพกลับกรุงหงษาวดี
ครั้นใกล้จะถึงกรุงหงษาวดี พระเจ้ากรุงหงษาวดีก็ทรงทราบว่าพระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ พระองค์ก็ทรงเสด็จยกกองทัพออกมารับพระศพมหาอุปราชพร้อมกับพระอรรคมะเหษี แล้วพระองค์ได้ทำเมรุใหญ่เปนที่สนุกสนาน แลพระองค์ทรงบำเพ็ยทานพระราชกุศลด้วยพระราชทรัพย์เปนอันมาก ในขณะนั้นพระองค์ทรงพระโทมนัศโศรกเศร้าเปนอันมาก 

มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร

ครั้น ณ วัน ๔ ฯ ๓ จุลศักราช ๙๕๕ ทรงตรัสให้อังวะมางแรชะวาพระราชโอรสเปนมหาอุปราชแทน 
ครั้นจุลศักราช ๙๕๖ ผู้รักษาเมืองมรแมนคบคิดกับฝ่ายอยุทธยาเปนขบถ เมื่อพระองค์ทรงทราบดังนั้น พระองค์จึงมีรับสั่งให้ตองงูบุเรงพระราชโอรสเปนแม่ทัพคุมทัพ ๆ นี้เปนช้างรบ ๔๐๐ ม้า ๔๐๐๐ พลทหาร ๘๐๐๐๐ สรรพด้วยสาตราอาวุธให้ยกไปตีพวกขบถ 
ครั้นยกไปถึงพวกบรรดามอญก็เข้าสมทบกับพวกอยุทธยาต่อสู้เปนสามารถ พลทหารพม่าฝ่ายกรุงหงษาวดีทนฝีมือมิได้ก็แตกกระจัดกระจายกลับไปกรุงหงษาวดีสิ้น เมื่อพระองค์ได้ทราบว่าพลทหารของพระองค์ได้แตกหนีมาเช่นนี้ พระองค์ก็ทรงพระพิโรธตองงูมางพระราชโอรสเปนอันมาก แล้วทรงตรัสให้ทำโทษศิริธรรมโสกซึ่งเปนนายทหาร แล้วศิริธรรมโสกก็ถึงแก่กรรม 
ในปีนั้นมางแรชะวามหาอุปราชพระราชโอรสกระทำจุลาจลให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความเดือดร้อนทุกอกสัตว์ คือรับสั่งไม่ให้ราษฎรทำไร่ทำนา แลเกณฑ์ให้พวกบรรดาราษฎรพม่ามอญเหล่านั้นทำของพระองค์ ครั้นได้เข้าเปนอันมากก็รับสั่งให้เอาขึ้นฉางน้อยใหญ่ไว้เปนอันมาก แล้วออกประกาศบังคับว่าถ้าผู้ใดอดอยากแล้วให้มาซื้อเข้าของพระองค์ ๆ จะลดราคาขายเข้าให้น้อยลงกว่าพวกลูกค้าทั้งปวงแล้วบังคับไม่ให้ซื้อเข้าของพวกลูกค้าอื่นด้วย เมื่อพระองค์ทำดังนั้นพวกราษฎรที่ไม่ได้ทำนานั้นก็อดอยากหนีหายล้มตายเปนอันมาก 
เมื่อสะโตธรรมราชาพระอนุชาเห็นว่าพระเชษฐาทำผิดราชประเพณีดังนั้น ก็ทูลห้ามพระเชษฐา ๆ ก็ไม่ฟังกลับกริ้วหาโทษกับสะโตธรรมราชาพระอนุชา ๆ กับพระมหาอุปราชวังหน้าก็เกิดเปนอริกันตั้งแต่ครั้งนั้นเปนประถม ในปีนั้นสุนัขบ้าชุมเหลือประมาณ พระมหาอุปราชมีรับสั่งให้พลทหารทวนฆ่าสุนัขบ้าเหล่านั้นตายสิ้น 
กิติศัพท์ที่บ้านเมืองเกิดจุลาจลนั้นก็ทราบไปถึงพระเจ้ากรุงหงษาวดี ๆ ก็ทรงพระพิโรธมหาอุปราชเปนอันมาก แล้วทรงรับสั่งให้ราษฎรที่มหาอุปราชกวาดต้อนลงมาจาก ๒ ฟากลำแม่น้ำเอยาวดีนั้นกลับไปทำมาหากินตามภูมิลำเนา พวกราษฎรที่อดอยากหนีซ่อนเร้นอยู่นั้น พระองค์มีรับสั่งให้เข้ามาทำมาหากินอยู่ตามเดิมโดยปรกติ 

มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร

ในจุลศักราชปีนั้นเดือนยี่ พระนเรศเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็ยกพลทหารมารวม ๒๔ ทัพ ช้างรบ ๖๐๐ ม้า ๖๐๐๐ พลทหาร ๑๒๐๐๐๐ ครั้นถึงเมืองมรแมนก็เข้าสมทบกับผู้รักษาเมืองมรแมนซึ่งได้เป็นขบถครั้งก่อนนั้น แล้วพระนเรศกับผู้รักษาเมืองมรแมนก็เข้าบรรจบทัพยกมาตีกรุงหงษาวดี ครั้นถึงกรุงหงษาวดี พระนเรศก็ตั้งค่ายลงมั่นไว้
ในขณะนั้นนายทหารดาบทองของพระเจ้าหงษาวดีที่พระนเรศจับได้เปนเชลยเมื่อครั้งพม่าไปตีกรุงศรีอยุทธยานั้น ก็คอยหาช่องโอกาศที่จะหนีจากค่ายพระนเรศ ครั้นมาวันหนึ่งได้ช่องโอกาศก็พาบ่าวของตัวได้คนหนึ่งก็หนีออกมาได้ แล้วก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าหงษาวดี ๆ มีพระไทยยินดีโปรดปรานเปนอันมาก แล้วทรงเลื่อนยศให้เปนไชยะนันทมิตร์ แล้วพระราชทานเครื่องยศให้เปนอันมาก 
ฝ่ายพระนเรศตั้งค่ายอยู่ที่กรุงหงษาวดีได้ประมาณ ๔ เดือนก็ทราบข่าวว่า พระเจ้าเชียงใหม่ ๑ พระเจ้าปะเย ๑ พระเจ้าตองงู ๑ สามองค์ได้ยกพลทหารเปนอันมากมาช่วยพระราชบิดาที่กรุงหงษาวดีเมื่อพระนเรศทราบเหตุว่ายกพลมาช่วยพระเจ้าหงษาวดีมาก พระนเรศก็เสด็จกลับกรุงศรีอยุทธยาในมหาสงกรานต์ ครั้นเสด็จไปถึงเมืองมุตมะก็เก็บกวาดต้อนพวกมอญที่ฝั่งตวันออกไปกรุงศรีอยุทธยาเปนอันมาก 
ในขณะนั้นพระเจ้าเมืองปะเยสะโตธรรมราชาพระราชโอรสองค์เล็กนั้นเปนขบถ ทำเปนยกพลมาช่วย ครั้นถึงเมืองตองงูทราบว่าพระเจ้าเมืองตองงูไม่อยู่ไปช่วยราชการพระราชบิดาดังนั้น สะโตธรรมราชาก็เข้าตีเมืองตองงู เวลานั้นนัดชินหน่องพระราชบุตร์ของพระเจ้าตองงูก็ปิดประตูลงเขื่อนขับให้พลทหารขึ้นรักษาบนเชิงเทิน แล้วรับสั่งให้เอาปืนใหญ่น้อยยิงระดมลงมา ยิงกันอยู่ได้ประมาณ ๑๕ วันก็ทราบว่าพระเจ้าตองงูเสร็จราชการแล้วเสด็จกลับเมืองตองงู เมื่อสะโตธรรมราชาทราบดังนั้นก็เก็บต้อนราษฎรผู้หญิงโคกระบือได้แล้วก็ถอยกลับไปเมืองน้อยได้ ๖ เมืองแลตีภูกามใหญ่ได้เมืองหนึ่งรวม ๗ หัวเมือง แล้วสะโตธรรมราชาก็ตั้งตัวแข่งเมืองต่อพระราชบิดา 
ครั้นจุลศักราช ๙๕๘ เดือน ๖ ปีนั้นมีหนูข้ามมาจากฝั่งตวันตกมาฝั่งตวันออกเปนอันมาก ขณะนั้นมางแรชะวามหาอุปราชรับสั่งให้พลทหารฆ่าฟันหนูนั้นตายเปนอันมาก ถึงกระนั้นก็ไม่หวาดไหว หนูก็เข้ากินเข้าที่ฉางน้อยใหญ่นั้นบกพร่องหมดลงเปนอันมาก ปีนั้นเข้าปลาเสบียงอาหารแพงเข้าถังหนึ่ง ๑๐๐ บาทก็ยังไม่มีที่ซื้อ 
ขณะนั้นพวกเชลยที่ได้มาจากเมืองล้านช้างรวมประมาณสัก ๑๐๐๐ คนเศษนั้น ได้อดอยากเข้าแพงก็หนีไปเมืองล้านช้าง เมื่อพระองค์ทรงทราบดังนั้นจึงให้พลทหารตามจับ ที่จับได้นั้นมีรับสั่งให้ประหารชีวิตร์เสียสิ้น 
ในเวลานั้นพระองค์ทรงเห็นว่าสะโตธรรมราชาพระราชโอรสของพระองค์แลฝ่ายพระนเรศพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยารบกวนบ้านเมืองเหลือที่จะปราบปราม พระองค์จึงมีรับสั่งให้ต้อนพวกราษฎรชายหญิงข้างฝ่ายหัวเมืองทิศเหนือนั้นเข้ามาอยู่ที่กรุงหงษาวดีสิ้น 
ขณะนั้นพระภาคิไนย นัดชินหน่องทูลขอช้างชื่ออุโปสะถะ ข้างฝ่ายเชียงใหม่นั้น มางสาตุลองซึ่งเปนพระปะนัดดาทูลขอช้างชื่อชมภูใจข้างฝ่ายราชบุตร์ยองยันสะขินลัด ซึ่งเปนพระภาคิไนยนั้นทูลขอช้างชื่อชมภูตะชิก ( แปลว่าตราชมภู ) แต่พระองค์ไม่พระราชทานให้ตามทูลขอนั้น พวกพระอนุฃาแลราชโอรสแลพระภาคิไนยเหล่านั้นก็มีความน้อยพระไทยตามกันแล้วกล่าวว่าสะโตธรรมราชาพระราชบุตร์ของพระองค์แล้วยังเปนขบถแข่งเมือง พวกเราจะนั่งนิ่งเช่นนี้ไม่ควร ต้องแข่งเมืองบ้าง ที่เราทูลขอช้างก็เพื่อเอาไว้รักษาบ้านเมืองของพระองค์เท่านั้นเรามิได้เอาไปเปนอณาประโยชน์ของเราเลย เมื่อต่างคนต่างรับสั่งดังนั้นก็แข่งเมืองขึ้น 
ขณะนั้นที่กรุงหงษาวดีเกิดจุลาจลต่าง ๆ ต่างคนต่างแข่งเมืองขึ้นสิ้น พระเจ้ากรุงหงษาวดีมีรับสั่งแก่ขุนนางข้าราชการว่า บัดนี้เราตั้งใจจะให้มางแรชวามหาอุปราชขึ้นครองราชสมบัติต่อไป แต่บัดนี้มหาอุปราชเขาหนีไปเข้าด้วยตองงูบุเรงพระเจ้าอาว์เขานั้นก็สมควรแล้ว 
เพราะฉนั้นเราก็ชราถึงเพียงนี้แล้วเราจะไม่ครองราชสมบัติต่อไปแล้ว เราจะพึ่งแต่บุญบารมีของพระอนุชาเรากว่าชีวิตร์จะหาไม่เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งดังนั้นแล้ว พระองค์จึงยกราชสมบัติให้พระอนุชาซึ่งเปนเจ้าเมืองตองงูขึ้นครองราชสมบัติ แต่พระองค์นั้นเสด็จไปประทับอยู่ที่พระตำหนักพระมะเหษี กรุงหงษาวดีให้เสียแก่พระอนุชา ณ วัน ๑ ฯ ๒ จุลศักราช ๙๖๑ 
กิติศัพท์อันนี้ก็ทราบไปถึงพระนเรศ ๆ ก็รีบจัดพลทหาร ๒๔ ทัพยกมาโดยเร็ว 
ฝ่ายตองงูบุเรงพระเจ้าหงษาวดีใหม่ทราบว่าพระนเรศยกพลมาจึงมีรับสั่งให้ขุนนางข้าราชการเข้าเฝ้า แล้วทรงตรัสว่าบัดนี้พระนเรศยกมานั้น เราจะตั้งรบที่กรุงหงษาวดีหรือ ๆ จะยกไปตั้งที่เกตุมดี ( คือเมืองตองงู ) ดี ขณะนั้นขุนนางข้าราชการบางพวกทูลว่า ให้เจ้าเมืองระแขงซึ่งมาช่วยพระองค์นี้กับพลทหารกรุงหงษาวดีบรรจบกันตั้งตีแล้วพระนเรศที่ไหนจะสู้บุญบารมีของพระองค์ได้ เวลานั้นนันทจอถิงทูลว่าซึ่งพระองค์จะให้ตั้งรบที่กรุงหงษาวดีนั้นข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯว่าไม่ควร เพราะเหตุว่ากรุงหงษาวดีนี้พวกมอญมาก แลพวกมอญเหล่านี้ก็เปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับพระนเรศ โดยเหตุนี้ขอพระองค์ทรงเสด็จยกไปตั้งรบที่เมืองเกตุมดีจึงจะควร แต่กรุงหงษาวดีนี้ให้เจ้าเมืองระแขงคอยอยู่รักษาป้องกันจึงจะชอบกล 
เมืองนันทจอถิงทูลดังนั้น พระเจ้าหงษาวดีทรงเห็นชอบด้วยพระองค์จึงเก็บรวบรวมพระพุทธรูปแลพระไตรปิฎกกับสมณชีพราหมณ์ราษฎรชายหญิงพม่า แขก สยาม แลทรัพย์สิ่งของทั้งปวงเสร็จแล้ว ก็เสด็จยกไปอยู่ ณ เมืองเกตุมดีสิ้น เสด็จยกจากกรุงหงษาวดี ณ วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือนจุลศักราช ๙๖๑ แต่ที่กรุงหงษาวดีนั้นให้เจ้าระแขงอยู่รักษาครั้งเดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ก็เสด็จถึงเมืองเกตุมดี เมื่องเสด็จถึงนั้นพระองค์รับสั่งให้ซ่อมแซมป้อมค่ายคูประตูหอรบไว้โดยแน่นหนามั่นคงแล้วให้เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นรักษาทุกช่องโดยกวดขัน 
ฝ่ายพระนเรศพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทราบว่าพระเจ้าหงษาวดีเสด็จไปตั้งอยู่ที่เมืองเกตุมดี พระนเรศก็ยกพลตามไป ครั้นถึงตำบลจะวะมะกูจรุณชอง ( แปลงว่าเกาะจะวะมะกู ชองนั้นคือแปลว่าคลอง ) พระนเคศก็ตั้งค่ายใหญ่ลงที่ตำบลนั้นโดยแน่นหนามั่นคง แล้วพระนเรศรับสั่งให้คนถือสารเข้าไปยังพระเจ้าหงษาวดี ใจความว่าซึ่งเราได้ยกพลมานี้ เรามิได้คิดจะรบกับเจ้าตองงูเลย ด้วยเราจะมาขอพระเจ้าหงษาวดีเก่าซึ่งเปนพระเชษฐาของท่านนั้น เพราะเรานับถือพระองค์ดุจเหมือนพระพุทธองค์ ๆ หนึ่ง 
เมื่อพระเจ้าหงษาวดีได้ทราบพระราชสาสน์ดังนั้น จึงได้รับสั่งตอบไปกับผู้ถือสาสน์ว่า เราให้ไปไม่ได้ ซึ่งพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาว่านับถือดุจดังพระนั้นไม่จริง เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างใด จะว่าไปเปนพระของเราจึงจะถูก 
ครั้นพระนเรศทรงทราบดังนั้นก็รับสั่งให้พลทหารเข้าตีเมืองเกตุมดี บ้างขุดกำแพงบ้างปีนกำแพงเปนสามารถ 
ฝ่ายข้างพลทหารพระเจ้ากรุงหงษาวดีก็เอาปืนใหญ่น้อยระดมลูกกระสุนปืนก็ถูกพลทหารอยุทธยาล้มตายเปนอันมาก แลทำลายกำแพงเมืองไม่ได้ก็ล้อมไว้ 
ขณะนั้นฝ่ายพระเจ้าเมืองระแข่งทราบว่าพระนเรศยกพลมาเจ้าเมืองระแข่งจึงเอาไฟเผาเมืองหงษาวดีเสีย แล้วเจ้าระแข่งก็ยกพลไปคอยซุ่มอยู่ที่ตำบลลำแม่น้ำที่กองลำเลียงของอยุทธยาจะยกมานั้นครั้นพลทหารกองลำเลียงยกมาถึงที่ซุ่ม เจ้าระแข่งก็ขับให้พลทหารตีกองลำเลียงอยุทธยาแตกแลล่มจมน้ำสิ้น กองลำเลียงเสบียงอาหารก็ส่งไม่ถึงกองทัพพระนเรศได้สักครั้งหนึ่ง พลทหารของพระนเรศก็อดอยากล้มตายเปนอันมาก ครั้นเสบียงอาหารขาดประมาณสักเดือนหนึ่งพระนเรศทนมิได้ก็ยกกองทัพไป 
พระนเรศถอยจากที่ล้อมเมืองเกตุมดีนั้น ณ วัน ๗ ฯ ๖ จุลศักราช ๙๖๒ ครั้นพระนเรศเสด็จยกไปถึงเมืองมุตมะก็เรียกพวกบรรดามอญทั้งปวงมาถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาสิ้น แล้วพระองค์ทรงตั้งให้พระยาทะลเปนอันมาก แล้วรับสั่งให้พระสะแบ๊บรักษาเมืองทวาย เมื่อพระองค์ทรงจัดทางฝั่งตวันออกเมืองมุตมะเรียบร้อยเสร็จแล้วก็เสด็จกลับกรุงศรีอยุทธยา 
ซึ่งพระนเรศทรงเสด็จยกมาตีกองทัพกรุงหงษาวดีครั้งนี้นั้นพระองค์ทรงตั้งพระไทยจะช่วยรบพระเจ้าหงษาวดีองค์เก่าที่ต้องออกจากราชสมบัติ แล้วก็จะถวายแก่พระเจ้าหงษาวดีที่ออกจากราชสมบัตินั้น แต่พระองค์เสด็จยกมาช่วยมิทันถึงกรุงหงษาวดี ๆ ก็เสียแก่พระอนุชาของพระเจ้าหงษาวดี 
เมื่อพระเจ้าหงษาวดีเสด็จกลับถึงกรุงหงษาวดีแล้วนั้น นัดชินหน่องราชบุตร์ของพระเจ้าหงษาวดีองค์ใหม่ทูลกับพระราชบิดาว่า ซึ่งพระองค์จะเอาพระราชสมบัติไว้นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าไม่ควร เพราะเหตุว่าเปนหลักตอใหญ่แก่บ้านเมืองอันหนึ่ง เมื่อนัดชินหน่องราชบุตร์ทูลดังนั้น พระองค์ทรงพิโรธแก่ราชบุตร์เปนอันมากแล้วทรงตรัสว่าตั้งแต่วันนี้เจ้าอย่าได้คิดหรืออย่าได้พูดต่อไป เพราะกูนับถือพระเชษฐาของกูดุจเหมือนพระองค์หนึ่ง ที่กูให้พระองค์ออกจากราชสมบัติครั้งนี้นั้นก็มิได้ตั้งใจจะเอาบ้านเมืองเปนประโยชน์ของกู ๆ เห็นบ้านเมืองจะเกิดจุลาจลกูจึงขึ้นครองราชสมบัติชั่วคราว เมื่อกูปราบปรามความยุคเข็ญบ้านเมืองราบคาบเรียบร้อยกูจะถวายคืน 
ครั้นเดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๙๖๒ นัดชินหน่องราชบุตร์ก็แอบแฝงเข้าไปในวังของพระเจ้าลุงโดยเวลากลางคืน ครั้นได้ทีก็เอาพระแสงฟันพระเจ้าหงษาวดีองค์เก่า ๆ ก็สวรรคตในคืนวันนั้นครั้นรุ่งเช้ากิติศัพท์ก็ทราบถึงพระเจ้าหงษาวดีใหม่ ๆ ก็เสียพระไทยเศร้าโศกเปนอันมาก 
เจ้าเมืองระแข่งครั้นเห็นว่าพระนเรศเสด็จกลับกรุงศรีอยุทธยาก็เข้าเฝ้าทูลพระเจ้าหงษาวดี ๆ ก็พระราชทานธิดาของพระองค์ทรงพระนามว่าจินมะหน่องให้กับเจ้าเมืองระแข่งไปตามที่สัญญาไว้แต่เดิม 
ขณะนั้นพระยาทะละเจ้าเมืองมุตมะแลเจ้าเมืองสังเลียงกับเจ้าอยุทธยาเปนพวกเดียวกัน เพราะฉนั้นพระเจ้าหงษาวดีจึงต้องทำพระราชไมตรีไว้กับเจ้าเมืองสังเลียง พระยาทะละเจ้าเมืองมุตมะ 
ครั้น ณ วัน ๓ ฯ ๙ จุลศักราช ๙๗๑ พระเจ้ากรุงหงษาวดีสวรรคต พระชนม์ ๕๘ พรรษา ทรงพระนามพระเจ้าธรรมราชา 
เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วนัดชินหน่องราชบุตร์ขึ้นครองราชสมบัติ ณ วัน ๑ ฯ ๙ จุลศักราช ๙๗๑ ทรงพระนามว่าสีหสูร แล้วเสด็จไปสร้างพระราชวังอยู่ที่กรุงอังวะ 
ครั้นจุลศักราช ๙๗๔ พระเจ้าอยุทธยาพระนเรศทรงเสด็จยกกองทัพ ๒๐ ทัพ ยกมาทางเชียงใหม่จะไปตีเมืองอังวะ ครั้นเสด็จมาถึงเมืองแหนแขวงเมืองเชียงใหม่ก็ทรงประชวนโดยเร็วพลันก็สวรรคตในที่นั้น 




มหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ในสมัยพระนเรศวร
วิชัย พรหมเมตตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น