วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม


ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม



"ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" 
ข้อความข้างต้นปรากฏอยู่บน "หมุดประชาธิปไตย" ที่ถูกตอกไว้ ณ จุดเดียวกับที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในแกนนำของคณะราษฎรอ่านคำประกาศ ต่อหน้าเหล่าทหารที่ถูกเกณฑ์มาเป็นสักขีพยานแห่งการปฏิวัติ เมื่อ 75 ปีก่อน 
คณะราษฎรตอกหมุดลงพื้นเพื่อตอกย้ำในวันหลัง ถือเป็นการประทับตราแห่งชัยชนะ ให้ระลึกถึงการ "อภิวัตน์" เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์ มาเป็น ประชาธิปไตย 
ในหมุดจารึกถึง "...รัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" 
ถึงวันนี้ ลองนับดู ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใช้แล้วถึง 18 ฉบับ (รวมฉบับล่าสุด 2550) 
คำว่า รัฐธรรมนูญ (Constitution) ตามความหมายที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ไว้ หมายถึง บทกฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบในการปกครองประเทศ โดยกำหนดรูปแบบของรัฐว่าเป็นรัฐเดียวหรือรัฐรวม ระบอบการปกครองของรัฐ รวมทั้งสถาบันและองค์กร การใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองรัฐ 
ทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ อาจจะเป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กฎหมายทุกตัวที่เกี่ยวกับการปกครอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 
สำหรับรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ใครบางคนเคยแซวไว้ในเพลง "...รัฐธรรมนูญ ฉีก ฉีก แล้วก็เขียน...ฉีก ฉีก เขียน เขียน เขียนแล้วก็โดนฉีก..." ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมบ้านเราถึงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้ "รัฐธรรมนูญ" เปลืองที่สุดประเทศหนึ่ง 
เหตุก่อเกิดรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับเป็นอย่างไร? เหตุแห่งการถูกฉีกถูกย่ำของแต่ละฉบับมาจากอะไร ลองไล่เรียงดู 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
 รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 1 : พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 
เกิดจากคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้จัดร่างฯขึ้น มีจำนวน 39 มาตรา โดยหลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย 
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน 
ต่อมาได้ "ยกเลิก" รัฐธรรญนูญฉบับนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ทั้งสิ้น 5 เดือน 13 วัน 
มีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 1 ชุด คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (สมัยที่ 1: 28 มิถุนายน 2475-10 ธันวาคม 2475) 

 ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 
เกิดจากสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการยกร่างฯขึ้น เพื่อใช้เป็นรัฐธรรรมนูญฉบับถาวร มีจำนวน 68 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งต่อมาถือเป็น "วันรัฐธรรมนูญ" 
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นฉบับถาวรที่มีระยะเวลาบังคับใช้นานที่สุด 
โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 13 ปี 4 เดือน 29 วัน 
ส่วนสาเหตุยกเลิกนั้น เนื่องมาจากเห็นว่า ใช้มานานแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 นี้ มีรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศถึง 14 ชุด 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 
มีที่มาจาก ส.ส.ประเภทที่ 2 ที่ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎร และสภาพิจารณาแล้วอนุมัติ มีจำนวนมาตรา 68 มาตรา โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ก่อนจะสิ้นสุด เนื่องจากมีการรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจ และประกาศยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 
รวมระยะเวลาประกาศใช้ 1 ปี 5 เดือน 30 วัน 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 
หลังจากที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร ได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมาใช้ มีจำนวน 98 มาตรา ประกาศใช้เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 และยกเลิกเมื่อ 23 มีนาคม 2492 เนื่องจากได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 
รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 นี้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน 
มีรัฐบาล 3 ชุด คือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ 2 สมัย และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีก 1 สมัย 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 
มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างฯและพิจารณาแล้วเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนหน้านี้ 
โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 มีจำนวน 188 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 แต่แล้ว 2 ปี 8 เดือน 6 วัน ต่อมา ก็ต้องสิ้นสุดลงไป เมื่อ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลอีกครั้ง และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 
สำหรับรัฐบาลที่ปกครองประเทศในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 4) 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 
หลังจากที่ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร (อีกครั้ง) ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มาใช้บังคับไปพลาง พร้อมให้ สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงฉบับใหม่ 
และเมื่อแล้วเสร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทน และสภาให้ความเห็นชอบ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 นี้ในวันที่ 8 มีนาคม 2495 โดยมีจำนวน 123 มาตรา 
และในระหว่างที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร ในวันที่ 16 กันยายน 2500 แต่ทว่าก็ยังคงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง คราวนี้ก็ถึงกาลสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับที่
รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศรวม 6 ชุด 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียง 20 มาตรา คณะรัฐประหารได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม 2502 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 รวมเวลา 9 ปี 4 เดือน 23 วัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นได้ชัดว่า 
รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ประกาศใช้นานมาก 
พูดได้ว่า เป็นช่วงการใช้อำนาจเผด็จการที่ยาวนานที่สุดของไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความเป็นเผด็จการเต็มขั้น คือในมาตรา 17 ที่ให้อำนาจ นายกรัฐมนตรีเบ็ดเสร็จ 
และมาตรานี้เองที่ทำให้เกิดการประหารชีวิตผู้ต้องหาโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล ทั้งยังมีการล้มเลิก การเลือกตั้ง ในทางการเมืองทุกระดับ มีแต่ การแต่งตั้ง แทน 
อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่นายกรัฐมนตรี คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่นายกฯ ท่านนี้จะ "ตายคาตำแหน่ง" ในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 และ จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก่อนที่จะยกเลิกเนื่องจากประกาศใช้ฉบับถาวร 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 
มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างและพิจารณาให้ความเห็นชอบ นับเป็น รัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างฯนานมาก นับจากวันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 
มีจำนวน 183 มาตรา โดยประกาศใช้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และต้องยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ด้วยเหตุแห่งการรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเอง โดยอ้างว่า "มีบุคคลบางจำพวกอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยุยง บ่อนทำลาย ใช้อิทธิพลทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติก่อกวนการบริหารราชการของรัฐบาล" 
รวมเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 3 ปี 4 เดือน 28 วัน 
ผู้บริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร (สมัยที่ 3 : 7 มีนาคม 2512-17 พฤศจิกายน 2514) 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 
คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นแนวทางในการบริหารประเทศไปพลางก่อน โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 และสิ้นสุดเมื่อ 7 ตุลาคม 2517 รวมเวลา 1 ปี 9 เดือน 22 วัน 
มีจำนวน 23 มาตรา สำหรับสาเหตุแห่งการสิ้นสุดนั้น เกิดจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ซึ่งเป็นฉบับถาวร 
ภายใต้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่รู้จักกันดีคือ "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ในปี 2516 ซึ่งเป็นเหตุให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องพ้นจากอำนาจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 
ในช่วงที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้น และได้จัดร่างรัฐธรรมญนูญ โดยยึดหลักประชาธิปไตยอย่างมาก เมื่อร่างฯเสร็จ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน ประกาศใช้เมื่อ 7 ตุลาคม 2517 มีจำนวนมาตรา 238 มาตรา 
แต่ทว่า 2 ปีต่อมา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารและประกาศล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ เป็นกระบวนการที่ติดตามมาจากการกวาดล้าง ปราบปรามขบวนการนักศึกษาในเช้าวันเดียวกัน ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้งหนึ่ง 
ภายใต้การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีรัฐบาล 4 ชุด จากนายกรัฐมนตรี "หม่อมพี่-หม่อมน้อง" คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 3 สมัย และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 1 สมัย 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 
ภายหลังการยึดอำนาจ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้มีคำสั่ง 6/2519 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 แต่งตั้ง "คณะเจ้าหน้าที่ทำงานกฎหมาย" ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 มีจำนวน 29 มาตรา ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 
แต่หลังจากประกาศใช้ได้ 11 เดือน 28 วัน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ได้ทำการรัฐประหารซ้ำ และยกเลิกรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ไป 
นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศช่วงรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม 2519-20 ตุลาคม 2520) 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 12 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 
เกิดจากการที่ คณะรัฐประหาร ซึ่งนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นำมาใช้หลังจากที่ได้ทำการรัฐประหารซ้ำ โดยได้วางหลักการไว้กว้างๆ เหมือนกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับก่อนๆ 
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจำนวน 32 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 และยกเลิก 22 ธันวาคม 2521 เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ฉบับถาวร) 
รวมเวลา 1 ปี 1 เดือน 13 วัน มีรัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (สมัยที่ 1) บริหารประเทศ 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จนแล้วเสร็จ จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและให้ความเห็นชอบ และเมื่อได้มีมติเห็นชอบแล้ว ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 มีจำนวน 206 มาตรา 
สำหรับสาเหตุแห่งการสิ้นสุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดจาก คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 
รวมเวลา 12 ปี 2 เดือน 1 วัน 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 14 : ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้อ้างเหตุผลในการยึดอำนาจว่า ประการแรก คณะรัฐบาลได้อาศัยอำนาจหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประการที่สอง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจรังแกข้าราชการประจำ และประการที่สาม นักการเมืองที่บริหารประเทศมีการรวบอำนาจนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา 
คณะ รสช.จึงได้ทำการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 และนำรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาใช้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 มีจำนวน 33 มาตรา แล้วยกเลิกไปวันที่ 9 ธันวาคม 2534 หลังจากประกาศใช้ฉบับถาวร 
รวมเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 คือ 8 เดือน 8 วัน 
สำหรับนายกรัฐมนตรีในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ นายอานันท์ ปันยารชุน (สมัยที่ 1 : 2 มีนาคม 2534-7 เมษายน 2535) 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 มีจำนวน 223 มาตรา 
ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 แต่ คณะ รสช. ก็ได้พยายามสืบทอดอำนาจ โดยผ่านพรรค "สามัคคีธรรม" ซึ่งเป็นพรรรค "นอมินี" ของ รสช. หนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน จนเกิดเหตุล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม 2535 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องพ้นจากตำแหน่ง 
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงประกาศใช้มาเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็มีความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คำนึงถึงประชาชนมีส่วนร่วมขึ้นมา และเมื่อแล้วเสร็จ จึงได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2540 
รวมเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 5 ปี 10 เดือน 2 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศ 5 ชุด 



ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 
สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน...คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ 
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมาจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ ได้จัดทำขึ้นเสร็จ แล้วรัฐสภาสมัยรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 พิจารณาให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประธานรัฐสภาได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 มีจำนวน 336 มาตรา 
รัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันร่างฉบับนี้ ถูกยกเลิก เนื่องจากการรัฐประหารภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมเวลา 8 ปี 11 เดือน 8 วัน 

ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 
คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีจำนวน 39 มาตรา 
โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ทันทีที่รัฐธรรมมนูญฉบับที่ 18 มีผลบังคับใช้ 



ภูมิหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 : รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 
เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีจำนวนมาตรา 309 มาตรา 
ช่วงที่มีการประกาศเลิกใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 นั้น ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" (ส.ส.ร.) กำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 180 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก 
จากนั้นได้ทำการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และจัดให้มีการออกเสียง "ประชามติ" 
การลงประชามติมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยผลที่ออกมาคือ ประชาชนลงคะแนน รับร่างรัฐธรรมนูญ 57% ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 41% จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน และประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศต่อไป 
น่าสนใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ น่าสนใจว่า การรัฐประหาร จะกลับมาอีกไหม สังเกตไหมว่า หลังจากที่มีการยึดอำนาจ ส่วนใหญ่ มักจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังใช้อยู่ จากนั้น ก็ร่างฯฉบับชั่วคราวเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหาร 
จะมีใครกล้ารับประกันไหมว่าจะไม่มีรัฐประหารอีก ก็หวังไว้ว่าคงไม่มีใครออกมาฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วต้องมานั่งเขียนกันใหม่อีกเนาะ  เพราะมันสิ้นเปลืองกระดาษ


วิชัย พรหมเมตตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น