วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ภูมิหลังแห่งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ปีพ.ศ. 2112


                              ภูมิหลังแห่งการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1  ปีพ.ศ. 2112





การสูญเสียเอกราชของชาติไทยในครั้งนั้นนับเป็นความข่มขื่นแก่คนไทยทั้งชาติในปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์ของพม่า ยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยไว้ได้ ในขณะนั้นพระมหาธรรมราชาอยู่ครองเมืองพิษณุโลก แม้พม่าจะมีชัยยึดเมืองไว้ได้แต่พระเจ้าบุเรงนอง ก็ทรงมอบให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลกอยู่ต่อไป หากแต่ได้นำเอา สมเด็จพระนเรศวร (พระองค์ดำ)กับสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว) ไปยังพม่าเพื่อเลี้ยงไว้เป็นตัวประกันไม่ให้ฝ่ายไทยกระด้างกระเดื่องต่อหงสาวดีด้วยเหตุนี้เอง พระนเรศวรจึงเจริญวัยในกรุงหงสาวดีเป็นส่วนใหญ่รู้จักเมืองพม่าเป็นอย่างดี สามารถพูดภาษามอญและพม่าได้คล่องแคล่วรู้จักนิสัยใจคอของชาวพม่าได้อย่างดีมาโดยตลอด แต่เดิมชาติพม่าเป็นชาติเล็ก ๆ ต่อมาจึงได้ทำศึกสงครามขยายลงมาทางใต้ ซึ่งติดต่อกับดินแดนไทยเพราะพม่าต้องการจะหาทางออกทะเล ใช้เป็นเส้นทางติดต่อกับประเทศอื่น
เมื่อพม่าครอบครองมอญไว้ได้จึงตั้งเมืองหลวงขึ้นมีชื่อว่า หงสาวดีเมืองหลวงเดิมนั้นตั้งอยู่ที่เมืองตองอูครั้นพวกมอญก่อกบฎ พม่าต้องทำการปราบมอญที่เป็นกบฎแต่ฝ่ายพวกมอญกบฎพากันหลบหนีมาอยู่ที่เมืองเชียงกราน
ศึกเมืองเชียงกราน ระหว่างไทยกับพม่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ส่งกองทัพเข้ามาตีเมืองเชียงกราน หมายจะกำจัดพวกมอญที่เป็นกบฎ  สมเด็จพระชัยราชาของไทยรู้ว่าพม่ายกเข้าตีเชียงกราน จึงจัดส่งกองทัพไทยขึ้นไปต่อต้านพม่า การต่อสู้ครั้งนั้นพม่าถูกตีแตกยับเยิน การพ่ายแพ้ของพม่าครั้งนั้น ทำให้พม่าผูกใจเจ็บมาโดยตลอดและใช้เวลาพยายามสร้างอาณาจักรพม่าให้เข้มแข็งขึ้น ต้องการจะครองความเป็นใหญ่ในภูมิภาคนี้และต่อมาจึงได้ยกทัพใหญ่เข้าสู่ไทยทางด่านเจดีย์สามองค์ ศึกครั้งนั้นทำให้ไทยเสียวีรสตรีคนสำคัญคือ พระสุริโยทัย นับเป็นการสงครามแก้แค้นโดยแท้
เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยา และกลับสู่หงสาวดีเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2092 พระองค์ก็มีพระอาการเปลี่ยนเป็นเศร้าซึมเนื่องจากต้องสู้รบกับไทยและฆ่าฟันพวกมอญล้มตายไปเป็นอันมากฝ่ายพม่าต้องเสียรี้พลไปมิใช่น้อย ในที่สุดพระองค์ก็ถูกพวกมอญลอบปลงพระชนม์ทำให้พม่าแตกแยกกัน
จนกระทั่งบุเรงนองขึ้นครองราชย์สืบต่อมา บุเรงนองต้องใช้เวลารวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่นได้ต้องใช้เวลานานถึง 14 ปีในเวลาต่อมา บุเรงนองกษัตริย์พม่าได้ส่งราชฑูตมาสู่ขอช้างเผือกจากกรุงศรีอยุธยาเนื่องจากทราบว่าฝ่ายไทยจับช้างเผือกได้ถึง 7 เชือก
ทางฝ่ายไทยทราบความประสงค์ของฝ่ายพม่าจึงพิจารณากันว่าควรจะยินยอมตามที่พม่าขอมาดีหรือไม่เรื่องราวเกี่ยวกับกรณีการให้ช้างเผือกแก่ฝ่ายพม่านี้มีสืบเนื่องมาแต่ครั้งที่ พระมหาจักรพรรดิ์กับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทำสงครามกัน ฝ่ายไทยเสียทีคือ ช้างของพระมหาธรรมราชาตกหลุมลงกลางศึกที่ติดพัน พร้อมด้วยพระราเมศวรและคนอื่น ๆ พม่าจับไปได้และไทยส่งราชฑูตไปเจรจาขอคนที่ถูกจับทั้งหมดคืน โดยไทยต้องเสียช้างเผือกให้กับพม่า 2 เชือก พร้อมกับช้างดำอีก 2 เชือก ชื่อพระยาปราบและ พระยานุภาพพม่าจึงยินยอมปล่อยเชลยศึกทั้งหมด
สำหรับครั้งนี้ฝ่ายไทยเห็นว่า หากยินยอมให้ช้างเผือกให้ช้างเผือกตามความประสงค์ในเชิงการฑูตถือว่าเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์ไทย ทำให้ศักดิ์ศรีของชาติลดน้อยถอยลงเท่ากับทำตามที่พม่าสั่งหรือปรารถนาฝ่ายไทยจึงไม่ยินยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าจึงมีพระราชสาส์นถึงพระเจ้าบุเรงนองปฏิเสธคำขอนั้นโดยสิ้นเชิง

พระเจ้าบุเรงนองถือเรื่องการขอช้างเผือกเป็นสาเหตุสำคัญ จึงให้ยกทัพใหญ่ลงมาตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2106 การยกทัพครั้งนี้ฝ่ายพม่าไม่ได้ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์หากแต่เปลี่ยนทิศทางเข้าทางด่านมะละกา หรือด้านแม่สอด ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือเพื่อตัดกำลังฝ่ายไทยและรวบรวมเสบียงอาหาร พม่ายกเข้าตีเมืองสวรรคโลกและยึดเมืองสวรรคโลกไว้ได้เจ้าเมืองสวรรคโลกเห็นข้าศึกมีกำลังพลมากกว่าจึงไม่คิดสู้รบ พระเจ้าบุเรงนองก็ยกทัพเข้าเมืองสวรรคโลก และพระเจ้าบุเรงนองตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนี้รอคอยกองทัพที่แต่งตั้งให้ไปตีเมืองสุโขทัย เมืองพิชัย และเมืองพิษณุโลก
สมเด็จพระมหาธรรมราชา (พระราชบิดาของพระนเรศวร) เจ้าเมืองพิษณุโลกได้เตรียมการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง ทัพพม่ายกทัพล้อมเมืองอยู่ 5 วัน ครั้นถึงวันที่ 6 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 5ค่ำ เดือนยี่ ข้าศึกก็เข้าเมืองพิษณุโลกได้ ภายในเมืองพิษณุโลกขณะนั้นเกิดไข้ทรพิษขึ้นและพม่าก็จับพระมหาธรรมราชาธิราชขึ้นไปถวายแก่พระเจ้าบุเรงนอง
ทางด้านฝ่ายเมืองสุโขทัยได้ยกกองทัพออกต่อสู้ทัพพม่าเต็มความสามารถแต่กำลังของสุโขทัยน้อยกว่า ต้องล่าถอยเข้าตั้งมั่นอยู่ในเมือง พม่าใช้กำลังที่เหนือกว่าตามเข้ายึดเอาเมืองสุโขทัยไว้ได้และเจ้าเมืองสุโขทัยก็ถูกจับส่งไปให้บุเรงนองที่สวรรคโลกเช่นเดียวกันขณะที่พม่ายึดเมือง พิชัย สุโขทัย สวรรคโลกและเมืองพิษณุโลกไว้ได้สำเร็จ สมเด็จพระมาหาจักรพรรดิ์ให้พระยาพิชัยรณฤทธิ์และพระยาพิชิตณรงค์ได้ขึ้นไปช่วยรักษาเมืองพิษณุโลกแต่ครั้นยกทัพไปถึงเมืองนครสวรรค์ก็รู้ข่าวว่า เมืองพิษณุโลกเสียแก่พม่าจึงต้องยกทัพกลับ
แผนการศึกษาของพระเจ้าบุเรงนองนับว่าล้ำลึกและแยบยลมากเมื่อตีหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้ได้เรียบร้อยแล้ว พระเจ้าบุเรงนองจึงนำกำลังของ สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย สมทบเข้าตีกรุงศรีอยุธยาจัดกระบวนทัพใหม่ โดยพระเจ้าแปรคุมกองกำลังทางเรือ กองทัพของมหายุวราชาเป็นกำลังปีกขวา พระเจ้าอังวะอยู่ทางปีกซ้าย ให้พระเจ้าตองอูเป็นกองกลาง ส่วนทัพหลวงของพระเจ้าบุเรงนองเป็นกองหลัง
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์มองให้พระราเมศวรและพระมหินทร์ยกไปต่อสู้กับกองทัพพม่ากองทัพของสองราชโอรสได้ปะทะกับกองทัพพม่าและตีข้าศึกแตกกระเจิง จากนั้นก็รุกไล่ขึ้นไปปะทะกับกองทัพของพระมหายุวราชา พระเจ้าตองอู และพระเจ้าอังวะกองทัพทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียผู้คนเป็นอันมาก ทัพพม่ามีกำลังมากกว่า จึงกลับเป็นฝ่ายรุกไล่ กองทัพไทยต้องถอยเข้าป้อมที่ทุ่งลุมพลี ทัพบุเรงนองได้ใจรุกไล่และระดมตีป้อมลุมพลีแตกเมื่อวันจันทร์ แรม 10 ค่ำเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน
สมเด็พระมหาธรรมราชาและพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ต้องทรงม้าหนีเข้าพระนครศรีอยุธยาทัพพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้งทัพหลวงไว้ที่ทุ่งลุมพลีและให้กองทัพของพระมหายุวราชาและพระราชอนุชาตรงเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้
ข้างฝ่ายภายในกรุงศรีอยุธยา ได้นำเอาปืน นารายณ์สังหารยาวสามวาศอก กระสุนขนาด 12 นิ้วนำไปบรรทุกสำเภาช่อขึ้นไปทางบ้านป้อม จากนั้นก็สั่งให้ยิงปืนนารายณ์สังหาร กระสุนปืนพุ่งเข้าสู่ค่ายพม่าที่ทุ่งพุทเลาจนกระทั่งพวกพม่าต้องย้ายค่ายไป
พม่ายกทัพเข้าตีค่ายพระสมุทรสงคราม กองทัพไทยและพม่าสู้รบกันตังแต่เช้าจนมืดค่ำ เรือกำปั้นของไทยในแม่น้ำเจ้าพระยาถูกพวกพม่าจับไว้ได้ พระเจ้าบุเรงนองต้องยกทัพย้ายจากป้อมลุมพลี เดินทัพข้ามแม่น้ำลพบุรี โพธิ์สามต้น มุ่งหน้าไปตามทุ่งพะเนียดถึงทุ่งช้างวัดสามพิหาร จึงสั่งหยุดทัพไว้
พม่ามอบให้พระมหายุวราชต้อนพลรบเคลื่อนเข้าตีหักพระนครศรีอยุธยา พระยารามจึงเข็นปืนนารายณ์สังหารลงบรรทุกสำเภาไม้รักแม่ยานาง แล้วยิงค่ายพระเจ้าบุเรงนองจนกระทั่งปืนถีบท้ายสำเภาล่มจมลงกระสุนปืนที่ยิงพุ่งเข้าปะทะกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ใหญ่ราว 3 กำเศษขาดตกลงใกล้ช้างพระที่นั่งพระเจ้าบุเรงนองห่างเพียงราว 3 วา  นอกจากนี้แล้วปืนใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนป้อมมหาไชยก็ระดมยิงถูกพลรบพม่าล้มตายจำนวนมาก พระเจ้าบุเรงนองจึงประกาศถอยทัพกลับ
 ครั้นตกวันอังคารแรม 3 ค่ำดือน 4 เวลาเช้าตรู่พระมหายุวราชาแห่งพม่าก็ยกทัพไปตีค่ายเจ้าขุนหลวงมหาเสนา ฯ ต่อสู้กันเป็นสามารถแต่ก็ไม่แตกหัก พระมหายุวราชาถึงกับพิโรธประกาศก้องต่อหนน้านายทัพนายกองทั้งปวงว่า หากตีค่ายแห่งนี้ไม่แตก จะตัดหัวให้หมด คำประกาศอันแข็งกร้าวนั้นทำให้พวกนายทัพนายกองพม่าเกรงพระอาญาจึงบีบให้ทหารหักค่ายด้านตะวันออกสำเร็จ เจ้าขุนมหาเสนา ฯจึงสั่งให้นายทัพนายกองและบรรดาไพร่พลพุ่งลงคลองว่ายน้ำข้ามฟากวัดมเหยงคน์
ฝ่ายไทยบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมากฝ่ายทัพพม่าได้ทำดินพูนสูงเป็นเนินแล้วนำปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งบนเนินสูงและได้ระดมยิงเข้าสู่พระนครศรีอยุธยาอย่างสนั่นหวั่นไหว วัดวาอารามและบ้านเรือนราษฎรพังพินาศด้วยขณะนั้นยังไม่ได้มีการขุดคูคลองขื่อหน้าคลองประตูข้าวเปลือก มีแต่คูเมืองด้านตะวันออก ปืนพม่าได้ถล่มเมืองและยิงราษฎรล้มตายเรื่อย ๆ ชาวบ้านชาวเมืองพากันแตกตื่นตกใจ ถึงกับกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงตกลงยินยอมส่งช้างเผือกที่พม่าขอไปให้เสียโดยดีเพื่อสงวนผู้คนพลเมืองขณะที่ชาวพระนครศรีอยุธยาต้องถูกยิงทำลายชาวเมืองพากันหวาดหวั่นกระสุนปืนใหญ่ของข้าศึกนั้น
ทางด้านเมืองหงสาวดีก็เกิดกบฎอย่างรุนแรงถึงกับมีการเผาเมืองและทำร้ายบรรดาเชื้อพระวงศ์ พระเจ้าบุเรงนองได้รับข่าวจากหงสาวดีก็ทรงนิ่งอึ้งไม่ปริปากแก่ผู้ใด ตัดสินพระทัยว่าจะต้องยกทัพกลับกรุงหงสาวดีอย่างแน่นอน แต่พระเจ้าบุเรงนองคิดว่าเวลานี้การศึกตีกรุงศรีอยุธยาพม่ากำลังได้เปรียบ ด้วยกรุงศรีอยุธยากำลังจะแตกอยู่รอมร่อแล้ว จังมีราชสาส์นถึงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แจ้งว่าขอให้กรุงศรีอยุธยายอมแพ้แต่โดยดี

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทราบความในราชสาส์นของพระเจ้าบุเรงนองแล้ว จึงทรงมีพระราชดำริว่า หากกรุงศรีอยุธยาจะสู้ต่อไปก็จะเกิดความแตกแยกทางความคิดด้วยขณะนี้ราษฎรตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและอยากจะให้ยอมส่งช้างเผือกให้พม่าแต่อีกฝ่ายไม่ยินยอมและคิดจะสู้ต่อไปจนวาระสุดท้ายคิดดังนี้แล้วพระองค์จึงตัดสินพระทัยตอบรับพระเจ้าบุเรงนอง
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แต่งให้คณะฑูตพร้อมด้วยราชการนำช้างเผือก 1 เชือกและราชบรรณาการออกไปถวายพระเจ้าบุเรงนองขอยอมแพ้ทำสัญญาสงบศึกกับพม่า แต่ฝ่ายพม่าเรียกร้องเอาช้างเผือกอีก 4 เชือก พร้อมทั้งขอตัวพระยาจักรีพร้อมทั้งพระราเมศวร พระยาสุนทรสงครามเพื่อนำเอาไปเป็นตัวประกันและฝ่ายไทยจะต้องยินยอมส่งช้างปีละ 300 เชือก เงินปีละ300 ชั่ง กับส่งเงินอากรค่าฝากเรือที่เก็บได้ ณ เมืองมะริดให้กับทางฝ่ายพม่าอีกด้วย
กรุงศรีอยุธยาซึ่งรักษาเอกราชมาช้านานหลายรัชสมัยก็ต้องสูญเสียเอกราชให้กับพม่าเป็นครั้งแรกบ้านเมืองพินาศย่อยยับ ผู้คนล้มตายและบาดเจ็บ พี่น้องไทยผู้รักอิสระต่างเศร้าโศกเสียใจไม่มีใครรู้ว่าเมื่อใดคนดีศรีอยุธยาจะกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนมา ทุกคนได้แต่กัดฟันรอคอยด้วยความหวังหวังว่าเอกราชของชาติไทยจะต้องกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ทำให้ไทยต้องเสียช้างเผือกอันเป็นของที่คู่บารมีพระเจ้าแผ่นดิน เสียเงิน เสียแม่ทัพนายกองคนสำคัญ พระมหาจักรพรรดิ์ถูกยึดพระองค์นำเสด็จไปยังหงสาวดีพร้อมกับตัวประกันคือ พระเจ้าราเมศวร และพระยาจักรี และพระยาสุนทรสงคราม บุคคลทั้งสามนี้ นับว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือเข้มแข็งในการศึกมาก สำหรับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์และพระราเมศวร ทั้งสองพระองค์เคยตั้งสัจจาอธิษฐานไว้ว่าจะไม่ยอมแพ้แก่พม่า ซึ่งทั้งสองพระองค์เคยตั้งสัจจะไว้คราวที่เสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย เมื่อ 15 ปีก่อน นอกจากนี้แล้วการที่พระเจ้าบุเรงนองเอาตัวพระราเมศวรไปทำให้การปกครองกรุงศรีอยุธยาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่วนพระมหินทร์นั้นไม่เข้มแข็งในการศึกเท่าพระราเมศวร ครองครัวไทยที่เป็นช่างต่าง ๆ ก็พลอยถูกกวาดต้อนไปอยู่กรุงหงสาวดีไม่น้อย
การสงครามระหว่างพม่ากับไทยครั้งนั้น พระยาตานีศรีสุลต่าน เจ้าเมืองปัตตานีซึ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ ถูกเกณฑ์ให้ยกกองทัพขึ้นมาช่วยป้องกันพระนครดังนั้นทัพเรือยาหยับจำนวน 200 ลำได้ยกเข้ามาช่วยศึกแต่ไม่มีโอกาสได้ทำการสู้รบกับทัพพม่าเพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ยอมอ่อนน้อมต่อพม่าเสียก่อนแล้วทัพเรือของพระยาตานีศรีสุลต่านจอดทองสมออยู่ที่ท่าวัดกุฎิที่บางกะจะแล้วเคลื่อนเข้าไปอยู่ที่ประตูชัย  เมื่อรู้ว่าพม่านำสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ไปยังหงสาวดีก็เกิดความสำคัญผิดคิดว่าบ้านเมืองว่างกษัตริย์ จึงยกพวกเข้าไปในพระราชวังก่อการกบฎ เก็บกวาดทรัพย์สินไปอย่างละโมบ ก่อนจะกลับยังได้นำช้างเผือกมาขี่เป็นพาหนะ ชาวนครศรีอยุธยาก็ช่วยทำการต่อต้านกับกำลังของพระยาปัตตานีศรีสุลต่านจนเกิดการล้มตายเป็นจำนวนมาก พระยาปัตตานีได้หลบหนีลงจากหลังช้าง หลบออกไปทางตะแลงแกง แล้วกลับลงเรือของตนหนีรอดไปได้
จากสงครามใหญ่ครั้งนี้เองทำให้ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะก่อนที่พระเจ้าบุเรงนองจะยกทัพกลับพม่านั้น มีการแต่งตั้งให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลกและประกาศแต่งตังให้พระมหินทราธิราชเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เท่ากับเป็นการแยกราชอาณาจักรไทยออกเป็นสองรัฐ ให้มีการแตกร้าวคานอำนาจแก่กัน และจะรวมไทยได้โดยยากนั่นเอง ส่วนเจ้าเมืองสวรรคโลกและเจ้าเมืองพิชัยก็ส่งกลับไปครองเมืองของตนดังเดิมแล้วพระเจ้าบุเรงนองก็เลิกทัพกลับหงสาวดี เมื่อแรม 2 ค่ำ เดือน 5 หรือ เมษายน พ.ศ. 2107 โดยมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จไปส่งจนพ้นเขตแดนไทย
เมื่อกรุงศรีอยุธยากลายเป็นเมืองออกของพม่าหรือเสียให้แก่พม่าแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงได้ลงผนวช พระมหินทร์ก็ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาดังที่กล่าวแล้วว่า พระมหินทร์นั้นผิดในอยู่กับสมเด็จพระมหาธรรมราชาด้วยเหตุที่ว่าพระมหาธรรมราชาเอาใจพระเจ้าบุเรงนองเกินไป ส่วนฝ่ายพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลกก็ไม่ยอมยกย่องในตัวพระมหินทร์เช่นเดียวกัน
ครั้นพระมหินทร์ทรงมีไมตรีกับพระไชยเชษฐากษัตริย์เมืองเวียงจันทน์และได้ขอพระเทพกษัตริย์ไปเป็นมเหสีความแตกร้าวก็ยิ่งทวีขึ้นเพราะพระมหาธรรมราชาแจ้งให้ทางหงสาวดีรู้พม่าจึงส่งกองทัพลงมาแย่งชิงพระเทพกษัตริย์ไปเสียกลางทาง สร้างความพิโรธให้กับพระมหินทร์ยิ่งนัก
ดังนั้นในเวลาต่อมา พระมหินทร์จึงคิดสมคบกับพระเจ้าลานช้าง หาทางกำจัดพระมหาธรรมราชาแต่ต้องประสบความล้มเหลวเรื่องการแข่งชิงพระเทพกษัตริย์และเรื่องของเมืองลานนาลานช้าง เป็นเรื่องที่น่าจะได้ทำความเข้าใจในที่นี้ด้วย
พระเทพกษัตริย์ทรงเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เคยปลอมพระองค์เป็นบุรุษตามเสด็จในการพระราชสงคราม เมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยผู้เป็นราชชนนีไสช้างเข้าช่วยพระมหาจักรพรรดิ์อาณาจักรลานนามีความสัมพันธ์กับไทยมาก่อน
ส่วนอาณาจักรลานช้างเมืองก่อน พ.ศ. 1835 มีราชธานีชื่อว่าเมืองชะวา ต่อมาจึงมีชื่อว่า หลวงพีระบาง เป็นเมืองออกในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย และหลังจาก พ.ศ. 1873 ก็ได้รับอิสรภาพในรัชกาลพระจ้าฟ้างุ้ม ครันพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) รวบรวมอาณาไทยฝ่ายเหนือรวมกับกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 1901
อาณาจักรลานช้างก็กลับเป็นเมืองออกของกรุงศรีอยุธยา แต่ได้มีการแบ่งแยกออกเป็นเมืองที่มีกษัตริย์ 3 เมือง ได้แก่เมืองศรีสัตนาคนหุต (แปลว่าลานช้าง) ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นนครเวียงจันทน์) ส่วนอีกเมืองหนึ่งก็ได้แก่เมืองโคตรบอง ตั้งอยู่ที่ปากห้วยหินบริบูรณ์ตรงข้ามอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม หลังจากสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็เปลี่ยนเรียกว่า เมืองลูกหลวงอาณาจักรลานช้างขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาครองราชย์เมืองเวียงจันทน์อาณาจักรลานช้างหรือเมืองเวียงจันทน์ ทั้งได้รวมเป็นรัฐเดียว มีอิสระไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ต้นรัชกาลสมเด็จพระยอดฟ้า
เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้เสียกรุงให้แก่พม่า พระมหินทร์ได้มีความสัมพันธ์กับพระไชยเชษฐา พระมหินทร์เห็นเป็นโอกาสที่จะอาศัยกำลังของเวียงจันทน์ร่วมกอบกู้เอกราชให้กับกรุงศรีอยุธยา โดยให้พระเจ้าไชยเชษฐามีความใกล้ชิดสนิทแนบแน่นยิ่งขึ้น จึงตัดสินพระทัยพระราชทานพระเทพกษัตริย์ให้แก่พระเจ้าไชยเชษฐาหากแต่ในเวลานั้นพระเทพกษัตริย์ทรงพระประชวร จึงให้พระราชทานพระแก้ฟ้าราชธิดาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์อีกองค์หนึ่งขึ้นไปแทน แต่ปรากฎว่าพระเจ้าไชยเชษฐาปฏิเสธไม่ยอมรับ เมื่อส่งพระแก้วฟ้ากลับกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระเทพกษัตริย์หายจากอาการประชวร สมเด็จพระมหินทราธิราชจึงมอบให้พระยาแมนคุมไพร่พล 1000 คนเดินทางไปส่งพระเทพกษัตริย์โดยทางเรือ
ความข้อนี้ล่วงรู้ไปถึงสมเด็จพระมหาธรรมราชา จึงได้แต่งม้าเร็วนำความไปทูลให้พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบว่า ทางกรุงศรีอยุธยากำลังจะส่งสมเด็จพระพี่นางเธอพระเทพกษัตริย์ไปถวายพระเจ้าไชยเชษฐาฯ พระเจ้าบุเรงนองจึงแต่งตั้งให้พระตะบะเป็นนายกองคุมพล 5000 คน เดินทัพไปซุ่มอยู่ที่ตำบลมะเริงนอกด่านเมืองเพชรบูรณ์ชิงตัวพระเทพกษัตริย์ไปถวายพระเจ้าบุเรงนองฝ่ายพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช รู้ว่าพม่าแย่งชิงพระเทพกษัตริย์เสียกลางทางก็มีความคิดโกรธคิดจะแก้แค้นสมเด็จพระมหาธรรมราชา เมื่อได้โอกาสก็คุมพลยกไปตีเมืองพิษณุโลก ส่วนสมเด็จพระมหินทราธิราชก็รู้สึกละอายที่ถูกแย่งชิงเอาพระเทพกษัตริย์ไปได้จึงสมคบกับพระเจ้าไชยเชษฐา ฯยกทัพกรุงศรีอยุธยาไปสมทบตีเมืองพิษณุโลกอีกทางหนึ่ง
พระมหินทร์ทรงแต่งตั้งให้พระยาศรีราชเดโช และพระยาท้ายน้ำยกกำลังขึ้นไปช่วยแล้วสั่งความลับว่า ถ้าพระเจ้าไชยเชษฐาล้อมเมืองพิษณุโลกเมื่อใดก็จงคุมตัวสมเด็จพระมหาธรรมราชาไว้ให้ได้
แต่ครั้นพระยาศรีราชเดโชยกไปถึงเมืองพิษณุโลกกลับนำความลับข้อนี้ไปแจ้งแก่พระมหาธรรมราชาเสียก่อน ดังนั้นเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐา ฯยกเข้าตีเมืองพิษณุโลกจึงถูกตอบโต้จนกระทั่งแตกพ่ายกลับไป เนื่องจากพระยาศรีราชเดโชเป็นกบฎต่อศรีอยุธยาและฝ่ายพม่าได้ส่งกองทัพมาช่วยสมเด็จพระมหาธรรมราชาครั้นเสร็จศึกพิษณุโลกแล้วพระยาศรีราชเดโชก็ไม่กลับกรุงศรีอยุธยาคงอยู่รับราชการกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาคงมีแต่พระยาท้ายน้ำเท่านั้นที่หนีกลับลงมาได้
ทางกรุงหงสาวดีรู้ว่าบัดนี้ไทยแตกแยกกันเองแน่นอนแล้ว จึงได้จัดเดรียมทัพใหญ่ลงมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นครั้งที่ 3 โดยมีข้ออ้างว่า พระมหินทร์นำครอบครัวของพระมหาธรรมราชามาเป็นตัวประกันที่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งให้พระมหาธรรมราชาตระเตรียมกำลังทัพไว้พระองค์จะลงมาตีกรุงศรีอยุธยาในฤดูแล้ง เมื่อถึงกำหนดเวลากองทัพของพระเจ้าบุเรงนองก็ยกทัพใหญ่เป็น 7 ทัพรวมทั้งทัพของสมเด็จพระมหาธรรมราชา โดยให้ทัพของพระมหาธรรมราชาเป็นกองพาหนะ พม่าเดินทัพเข้าไปตีกรุงศรีอยุธยาในเดือน 11 ปี มะโรง พ.ศ. 2111
สมเด็จพระมหินทราธิราชเห็นว่าข้าศึกยกมาครั้งนี้ใหญ่หลวงเกินกำลังจะต้านทานได้จึงทรงกราบวิงวอนขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงลาผนวชออกมาบัญชาการศึกด้วยพระองค์เองอีกครั้งหนึ่งขณะเดียวกันฝ่ายไทยได้เตรียมกำลังเท่าที่มีอยู่สู้กับพม่า เพราะหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นกบฎและคิดเพียงแต่ต่อสู้ป้องกันให้พระนครอยู่รอดปลอดภัยเท่านั้น
เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีกำลังน้อย แต่ได้เปรียบตรงที่มีแม่น้ำคูคลองล้อมรอบพระนครข้าศึกยกเข้าถึงในเมืองได้โดยยากฝ่ายไทยจึงเริ่มยิงฝ่ายข้าศึกที่ล้อมเมืองไว้ทั้งสี่ด้าน ปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยายิงไกลไปถูกทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก พม่าไม่อาจจะขนปืนใหญ่มาได้จึงใช้ปืนเล็กยิงต่อสู้ในระยะห่างฝ่ายไทยเคยได้รับบทเรียนในการรบกับพม่ามาแล้วหลายครั้ง นักรบกรุงศรีอยุธยาจึงมีความอดทนยอมสละชีวิตต่อสู้กับศัตรูด้วยความพร้อมเพรียง พม่าตั้งล้อมพระนครอยู่ 4 เดือน
ครั้นถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2112 กองทัพพม่าก็บุกเข้าปล้นกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง แต่ต้องเสียรี้พลไปไม่ใช่น้อย แม้จะทำเนินดินเป็นโคกสูงกว่ากำแพงกรุงศรีอยุธยาแล้วเข็นปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งยิงฝ่ายไทยอย่างหนัก ทำให้ภายในกรุงศรีอยุธยาเสียหายยับเยินแต่ไม่อาจจะเอาชัยได้ ขณะนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เกิดประชวรขึ้นและถึงแก่สวรรคตอย่างกระทันหัน พระมหินทร์ราชโอรสขึ้นครองราชย์สืบแทน โดยแผ่นดินมิได้ว่างกษัตริย์ทั้งที่สงครามระหว่างพม่ากับไทยยังไม่ยุติ ฝ่ายพม่าเริ่มวิดน้ำกลัวน้ำจะท่วมกองทัพในฤดูฝน จึงสั่งให้เร่งตีเอากรุงศรีอยุธยาให้จงได้
พระเจ้าบุเรงนองเองก็รู้สึกไม่สบายพระทัย ด้วยมิอาจทำศึกมีชัยสมความประสงค์ถึงกับประกาศแก่นายทัพทั้งปวงว่าใครที่ปล้นกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ถือเป็นความบกพร่อง และใครที่ไม่ทำตามกฎอัยการศึกโดยสุดกำลังจะเอาโทษแก่ผู้นั้น บรรดาแม่ทัพนายกองหรือท้าวพระยาต่าง ๆ ล้วนรู้สึกครั่นคร้ามต่อพระอาญาจึงมีจิตใจบากบั่นเข้มแข็งขึ้นอีกหลายเท่าอย่างไรก็ตามเมื่อเข้าปล้นค่ายทีไรก็จะถูกไทยโต้ตอบล้มตาย 300 ถึง 600 คน บางกองทหารที่ล้มตายถูกนำขึ้นมาเป็นเครื่องกำบังกระสุนปืนก็มี
พม่าจึงเสนอให้พระมหินทร์ทรงยอมทำไมตรีแต่โดยดีและให้ส่ง พระยารามแม่ทัพฝีมือดีไปให้ฝ่ายไทยปรึกษากันแล้วจึงได้มอบหมายให้สมเด็จพระสังฆราชออกไปเจรจาและคุมตัวพระยารามไปถวายแก่พระจ้าบุเรงนองด้วย
เมื่อฝ่ายไทยกระทำตามข้อเสนอของพระเจ้าบุเรงนองทุกประการ แต่ฝ่ายพม่าก็ปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ตนเองรบมามากแล้วไพร่พลต่างล้มตายไปมากมายจึงไม่ยอมทำไมตรีด้วย การกระทำของพม่าดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นกับฝ่ายไทยมากจึงผนึกกำลังกายกำลังใจพร้อมสู้ศึกต่อไปจนกว่าจะถึงฤดูน้ำท่วม  พระเจ้าบุเรงนองก็ลั่นวาจาว่าจะตีกรุงศรีอยุธยาให้จงได้ในขณะที่การต่อสู้ระหว่างกองทัพทั้งสองฝ่ายดำเนินต่อไปนั้น ฝ่ายพม่าทำถนนข้ามคูคลองหมายเข้าเมือง ในขณะเดียวกันนักรบกล้ากรุงศรีอยุธยาได้สู้ศึกอย่างทรหดเข้มแข็ง
ฝ่ายสมเด็จพระมหาธรรมราชา ฯเห็นว่าสุดวิสัยจะเอาชัยชนะแก่กรุงศรีอยุธยาได้ด้วยกำลังศาสตราวุธ ดังนั้นจึงให้หาตัวเจ้าพระยาจักรี ซึ่งมีความผิดต้องเวรจำมาพบในยามค่ำคืน แล้วให้สาบานเป็นการลับ ปรึกษาหารือว่าหากพระยาจักรีรับอาสาเป็นใจในกลศึกครั้นนี้ก็จะตีกรุงศรีอยุธยาได้ไม่ยาก พระเจ้าบุเรงนองจึงเกลี้ยกล่อมให้พระยาจักรีทำตัวเป็นไส้ศึกเล็ดลอดเข้ากรุงศรีอยุธยา และทรงสัญญาว่าถ้าตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ พระองค์ก็จะชุบเลี้ยงพระยาจักรีให้ตำแหน่งอุปราชครองเมืองพิษณุโลก
ครั้นพระยาจักรีรับอาสาทำการครั้งนี้อย่างมั่นพระทัยแล้ว พระเจ้าบุเรงนองจึงแสร้างทำอุบายให้นำพระยาจักรีมาลงโทษแล้วนำไปจองจำไว้ มีชาวพม่า มอญ ลาว มีผู้คุมอยู่ 30 คน ต่อมาอีกราว 5-6 วัน สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ส่งคนให้ลอบปล่อยพระยาจักรี
พระยาจักรีทำการหนีเข้ากรุงศรีอยุธยาทั้งที่อยู่ในเครื่องพันธนาการ โดยเข้าทางด้านที่พระยาธรรมมาธิกรณ์คุมทัพอยู่ ตรงกับวัดสบสวรรค์ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน ทางพระเจ้าบุเรงนองก็ทำทีเป็นค้นหาพระยาจักรีทุกกองแต่ไม่พบ จากนั้นก็ให้นำผู้คุมทั้ง 30 คนนั้นไปตระเวนรอบ ๆ กองทัพ แล้วทำทีเป็นประหารชีวิตเสียไว้ที่หน้าค่ายวัดธรรมา ขณะนั้นพระยาธรรมากรณ์เห็นได้ชัดแจ้ง จึงเชื่อว่าพระยาจักรีหนีข้าศึกมาจริง จึงนำตัวเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหินทร์พระยาจักรีผู้นี้เป็นพวกกรุงศรีอยุธยา มีความเข้มแข็งในการศึก พระเจ้าบุเรงนองได้เอาตัวขึ้นไปอยู่หงสาวดีตั้งแต่สงครามขอช้างเผือก พ.ศ. 2106 และในครั้งนี้จึงได้เสด็จลงมาตีกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับพระเจ้าบุเรงนองฝ่ายพระยาธรรมากรณ์นำตัวพระยาจักรีเข้าเฝ้าพระมหินทร์แล้ว
พระองค์ทรงเห็นว่าพระยาจักรีเป็นข้าเก่าของสมเด็จพระบรมชนกนารถ ซึ่งต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดไปอยู่กับข้าศึก แล้วหนีรอดมาได้ ก็ทรงยินดียิ่งนัก ทั้งยังเชื่อสนิทพระทัยว่าพระยาจักรีมีความรักปีตุภูมิไม่เปลี่ยนแปลง จึงทรงแต่งตั้งให้พระยาจักรีเป็นผู้บัญชาการทัพรบกับพม่า แต่แล้ว
ในวันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำปีมะเส็ง พ.ศ. 2112 พระยาจักรีก็ทรยศต่อไทยเปิดทางให้พม่ายกเข้ากรุงได้ภายหลังที่กรุงศรีอยุธยาสู้พม่ามายาวนานถึง 6 เดือน ซึ่งเหลือเวลาอีก 2 เดือนเท่านั้นก็จะถึงฤดูน้ำหลาก หากถึงวันนั้นทัพพม่าก็จะเอาชัยได้โดยยากและต้องถอยทัพกลับไปเอง แต่การเสียกรุงครั้งนี้เป็นเพราะไทยแตกสามัคคีกันโดยแท้ สำหรับพระยาจักรีซึ่งเป็นไส้ศึกให้พม่าก็ได้รับบำเหน็จความชอบตามที่พระเจ้าบุเรงนองให้สัญญาไว้แต่แรก
สมเด็จพระนเรศวรวีรกษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเป็นครั้งที่ 3 ฝ่ายพม่าหาได้เผาผลาญบ้านเมืองไม่ แต่ได้ทำการกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย สำหรับเชื้อพระวงศ์นั้นก็ได้เชิญสมเด็จพระมหินทร์ไปกรุงหงสาวดีแต่สมเด็จพระมหินทร์เกิดอาการประชวรและสวรรคตเสียขณะเดินทางพระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี จึงได้แต่งตั้งให้พระมหาธรรมราชา เจ้าเมืองพิษณุโลก เลื่อนมาครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ. ศ. 2114 โดยฝ่ายพม่ามีข้อแม้ว่า ให้มีพลเมืองเพียง 10000 คน
นอกจากนี้แล้วให้มีกองทัพของพม่าประจำอยู่ด้วย 3000 เพื่อช่วยควบคุมรักษาเมืองพระเจ้าบุเรงนองประทับอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจนตลอดฤดูฝนจึงได้ยกทัพ ไปตีลานช้างเพื่อแก้แค้นพระไชยเชษฐาซึ่งเป็นศัตรูคู่แค้นกันมาก่อน แต่ตีไม่สำเร็จ
เมื่อพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเรียบร้อยแล้ว จึงได้ขอตัวพระนเรศวร ซึ่งเป็นราชโอรสกลับคืนจากหงสาวดีเพื่อให้ลงมาช่วยราชการบ้านเมืองแล้วพระองค์ก็ส่งพระสุพรรณเทวีราชธิดาขึ้นไปอยู่แทนพระนเรศวรหรือองค์ดำพระองค์นี้ทรงเป็นราชโอรสของพระมหาธรรมราชาดังกล่าวแล้วข้างต้น
เมื่อปี พ.ศ. 2106 อันเป็นปีที่พระเจ้าบุเรงนองพระจ้าแผ่นดินพม่ายกมาตีเมือง พิษณุโลก ซึ่งพระมหาธรรมราชาปกครองอยู่นั้น พระเจ้าบุเรงนองได้ขอพระนเรศวรไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และเพื่อยึดเป็นตัวประกันไม่ให้พระมหาธรรมราชาเอาใจออกห่างหรือคิดร้ายต่อฝ่ายหงสาวดีนั้นเอง


พระองค์ดำได้เสด็จไปอยู่ที่เมืองหงสาวดีตั้งแต่พระชนมายุได้เพียง 9 พรรษาเท่านั้นเอง พระองค์ทรงเป็นผู้ที่มีน้ำพระทัยเป็นนักรบมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวมีน้ำพระทัยกว้างขวางสมกับที่เป็นเชื้อสายของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย แม้พระนเรศวรจะถูกนำไปเป็นตัวประกันถึงหงสาวดีแต่ตลอดระยะเวลาพระองค์มิได้ทรงหวั่นไหว
ครั้งที่อยู่ในเมืองพม่าก็ได้แสดงความปรีชาสามารถให้ปรากฎหลายต่อหลายครั้ง ทำให้พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่ารู้สึกหวาดหวั่น แกรงว่าต่อไปภายหน้าอาจคิดกู้ชาติไทยก็ได้
พระเนศวรกลับมาช่วยราชการของพระราชบิดาเมื่อพระชนม์มายุได้ 15 พรรษาและหลังจากนั้นอีก 1 ปีก็ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยายังคงเป็นเมืองออกของพม่า พระนเรศวรทรงทำการฝึกทหารที่อยู่ในวัยเดียวกับพระองค์และความคาดคิดของพระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีก็กำลังจะกลายเป็นความจริง เมื่อพระนเรศวรทรงคิดที่จะกอบกู้อิสรภาพขึ้นในแผ่นดินอันเป็นเมืองที่พระองค์ทรงประสูติ
ความรู้ที่พระนเรศวรเคยศึกษามาจากราชสำนักของพระเจ้าบุเรงนองถูกนำมาถ่ายทอดและผสมผสานกับยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของไทยเดิม ตลอดระยะเวลา 6 ปีในแผ่นดินพม่าล้วนเป็นสิ่งมีค่าสำหรับชีวิตของพระองค์ ดังนั้นทหารที่พระองค์ทรงฝึกขึ้นในเมืองพิษณุโลกจึงมีความรอบรู้กว้างขวางทั้งยุทธวิธีการรบแบบไทยและยุทธวิธีกระบวนศึกของพม่าควบคู่กันไปเป็นอย่างดี พระองค์ทรงปรับปรุงยุทธวิธีการรบแบบไทย โดยการทำยุทธวิธีการรบแบบก้าวหน้า คือการนำคนจำนวนน้อยเข้าต่อสู้กับคนจำนวนมาก หรือที่เรียกกันว่าการรบแบบกองโจรในปัจจุบัน
ดังนั้นตลอดเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรอยู่เมืองพิษณุโลกจึงได้มีโอกาสช่วยเหลือพระมหาธรรมราชาหลายครั้ง เช่นครั้งที่ พระยาจีนจันตุขุนนางจีนเมืองเขมร เล็ดลอดเข้ามาสืบความลับในราชการกรุงศรีอยุธยาแล้วได้ลอบลงเรือสำเภาหนีพระนเรศวรสืบทราบ จึงได้จัดกองเรือออกติดตามไปทันที่ปากน้ำแล้วทรงใช้พระแสงปืนดังยิงตัดหน้าเรือข้าศึกฝ่ายข้าศึกในเรือก็ยิงโต้ตอบและกระสุนฝ่ายข้าศึกถูกรางพระแสงปืนของพระองค์แตกครั้นสำเภาข้าศึกได้ลมแรงเรือก็แล่นหนีออกนอกทะเลลึกเรือของพระองค์ลำเล็กกว่าจึงสั่งให้เบนหัวเรือกลับ การครั้งนั้นทำให้ฝ่ายจีนจันตุหนีรอดตายไปได้อย่างหวุดหวิด
พระปรีชาสามารถในการรบเป็นที่ประจักษ์หลายครั้งหลายคราว ครั้นยิ่งนานวันความกล้าแกร่งของพระนเรศวรยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวความสามมารถในการเป็นผู้นำปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน จนกระทั่งได้รับความนับถือยกย่องโดยทั่วไป
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีสิ้นพระชนม์ทางประเทศพม่าจึงผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่นันทบุเรงได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้าบุเรงนอง พระนเรศวรในขณะนั้นก็ได้คุมทัพ และเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่พม่าตามราชประเพณีที่มีมาคือเมื่อแผ่นดินพม่ามีการผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ประเทศราชจะต้องปฏิบัติเช่นนี้
ทางด้านเจ้าฟ้าเมืองคัง ซึ่งเป็นเมืองออกของหงสาวดีแข็งเมือง ไม่ยอมส่งราชบรรณาการไปถวายพระเจ้านันทบุเรงดังนั้นพม่าจึงจัดกองทัพขึ้น 3 กอง มีพระมหาอุปราชราชโอรสของพระเจ้านันทบุเรง พระสังขฑัตโอรสเจ้าเมืองตองอู ส่วนทัพที่ 3 คือกองทัพของพระนเรศวรแห่งกรุงศรีอยุธยาให้ยกไปปราบปรามเมืองคัง
กองทัพของพระมหาอุปราชบุกเข้าโจมตีเมืองคังก่อน แต่ปรากฏว่าตีไม่สำเร็จ ต่อมาจึงเป็นหน้าที่ของกองทัพพระสังขฑัต แต่การโจมตีก็ต้องผิดหวังล่าถอยกลับมาอีกเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นคราวที่พระนเรศวรจะเข้าโจมตีเมืองคังบ้าง
พระนเรศวรทรงพิจารณาเห็นว่าเมืองคังตั้งอยู่บนที่สูง พระองค์จึงวางแผนการยุทธจัดทัพใหม่ แบ่งกำลังส่วนหนึ่งเข้าโจมตีด้านหน้ากำลังส่วนนี้มีไม่มากนัก แต่กำลังส่วนใหญ่ของพระองค์เปลี่ยนทิศทางโอบเข้าตีด้านหลัง ประกอบกับพระองค์ทรงรู้ทางลับที่จะบุกเข้สู่เมืองคังอีกด้วย จึงสามารถโจมตีเมืองคังแตกโดยไม่ยาก พระนเรศวรจับเจ้าฟ้าเมืองคังไปถวายพระเจ้านันทบุเรงที่หงสาวดีเป็นผลสำเร็จ
ชัยชนะในการตีเมืองคังครั้งนั้นทำให้ฝ่ายพม่าเริ่มรู้ว่าฝีมือทัพไทย มีความเก่งกล้าสามารถน่าเกรงขามยิ่งกว่าแต่ก่อน โดยเฉพาะพระสังขฑัต และพระมหาอุปราชารู้สึกมีความละอายมากในการทำศึกครั้งนี้นอกจากนี้แล้วต่อมาพวกเขมรยกทัพมากวาดต้อนผู้คนในเมืองนครราชสีมา และหัวเมืองชั้นใน ก็ถูกกองทัพของพระนเรศวรโจมตีแตกกระเจิงและเลิกทัพถอยกลับไปความเก่งกล้าสามารถของพระนเรศวรมีมากขึ้นเพียงไรความหวาดระแวงของหงสาวดีก็เพิ่มทวีมากขึ้นเยงนั้น พระเจ้านันบุเรงเริ่มไม่ไว้วางพระทัยนเรศวร คอยจับจ้องดูความเปลี่ยนแปลง และความสามารถของยอดนักรบพระองค์นี้อยู่ตลอดเวลาคิดว่าหากมีโอกาสเมื่อใดก็จะกำจัดตัดไฟแต่ต้นลม
ดังนั้นเมื่อพระเจ้ากรุงอังวะแข็งเมืองขึ้น และไม่ยอมอ่อนน้อมให้กับกรุงหงสาวดี พระจ้านันทบุเรงแห่งพม่าจึงวางแผนการณ์อันลึกซึ้งทันที พระองค์ทรงเกณฑ์กำลังของประเทศราชที่ขึ้นต่อหงสาวดี ทั้งนี้รวมถึงพระนเรศวรแห่งกรุงศรีอยุธยาด้วย เพื่อให้กองทัพดังกล่าวยกไปปราบเมืองอังวะ
พระเจ้านันทบุเรงทรงเห็นว่า พระนเรศวรผู้นี้เป็นนักรบที่เข้มแข็ง ทั้งยังมีความเฉลียวฉลาดอีกด้วย หากปล่อยไว้ภายหน้าจะกลายเป็นภัยแก่กรุงหงสาวดีโดยแน่นอนพระองค์จึงวางอุบายรับสั่งให้พระมหาอุปราชาอยู่รักษาเมืองหงสาวดีพระมหาอุปราชาวางแผนให้พระยารามยกทัพไปต้อนรับกองทัพของพระนเรศวร ทั้งยังสั่งการไว้ก่อนว่าหากพระมหาอุปราชายกเข้าโจมตีกองทัพพระนเรศวรก็ให้พระยาเกียรติ พระยารามยกทัพเข้าตีล้อมทางด้านหลังแผนการครั้งนั้นดำเนินไปตามที่คิดไว้
ในที่สุดพระยารามกับพระยาเกียรติก็ยกทัพลงมาต้อนรับพระนเรศวรที่เมืองแครงแต่นับเป็นการบังเอิญที่พระยารามและพระยาเกียรติยกมาได้พบกับพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของตนเข้าพอดี จึงเล่าความจริงทั้งหมดนี้ให้อาจารย์ฟัง พระมหาเถรคันฉ่องนั้นมีเชื้อสายเป็นมอญซึ่งเจ็บแค้นพวกพม่าอยู่แล้ว จึงได้ห้ามปรามไม่ให้แม่ทัพทั้งสองทำตามที่พระมหาอุปราชารับสั่งไว้นอกจากนี้แล้วยังแจ้งให้พระนเรศวรทรงทราบเสียก่อนอีกด้วย
ครั้นพระนเรศวรทรงทราบว่าบัดนี้ทางหงสาวดีคิดจะกำจัดพระองค์เช่นนั้น พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยว่าจะไม่ยอมขึ้นกับพม่าอีกต่อไป จึงได้ประกาศตัดไมตรีกับพม่า ความคิดเดิมที่จะช่วยปราบกรุงอังวะครั้งนี้อยู่ในแผนกลลวงที่จะจัดพระองค์ จึงสั่งหยุดทัพที่เมืองแครงนั่นเองพระนเรศวรทรงประกาศทำพิธีหลั่งน้ำทักษิโณทกประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยาที่เมืองแครง
เมื่อเดือน 6 ปี พ.ศ. 2127 นับจากนี้ไป ไทยกับพม่าขาดสัมพันธ์ไมตรีต่อกัน กรุงศรีอยุธยาจะไม่ขึ้นกับกรุงหงสาวดีอีกต่อไป พระนเรศวรได้กวาดต้อนครอบครัวไทยและมอญ พระยาราม พระยาเกียรติและพระมหาเถรคันฉ่องก็ตามเสด็จมาด้วย ครั้งแรกพระนเรศวรคิดจะยกไปตีกรุงหงสาวดีแต่เห็นว่ามีกำลังน้อย เกรงจะทำการไม่สำเร็จ
ทางฝ่ายกรุงหงสาวดีเมื่อพระเจ้านันทบุเรง ทรงทราบว่าบัดนี้แผนการณ์กำจัดพระนเรศวรล้มเหลวและความคิดที่ว่าพระนเรศวรจะคิดกู้ชาติไทยก็กลายเป็นจริงทุกประการ จึงให้สุรกรรมายกทัพไปติดตามไปปราบพระนเรศวรกองทัพของสุรกรรมายกติดตามมาถึงฝั่งแม่น้ำสะโตงก็พอดีที่ทัพไทยข้ามฝั่งแม่น้ำไปแล้ว ทั้งสองฝ่ายจึงเกิดยิงต่อสู้กันขึ้นระหว่างสองพากฝั่งแม่น้ำสะโตง สมเด็จพระนเรศวรทรงพระแสงปืนยาวพระองค์ทรงเล็งพระแสงปืนยาวไปยังสุรกรรมมาแม่ทัพพม่าซึ่งบัญชาการศึกล้มซุบลงบนคอช้างทำให้พม่าต้องถอยทัพกลับไป พระแสงปืนยาวซึ่งพระนเรศวรใช้ยิงถูกสุรกรรมา จึงได้ตั้งชื่อภายหลังว่า พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง
หลังจากที่พระนเรศวรประกาศอิสรภาพแล้ว พระเจ้าบุเรงนองก็ไม่ละความพยายามที่จะปราบปรามกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้กรีฑาทัพยกมาตีกรุงศรีอยุธยารวม 5 ครั้ง พระนเรศวรก็ทรงได้ต่อสู้ต้านทานข้าศึกอย่างเข้มแข็งทุกครั้ง หลายครั้งที่พระองค์ทรงตีทัพพม่าแตกพ่ายอย่างหนัก
นอกจากนี้แล้วพระองค์ยังได้ยกทัพไปตีเมืองประเทศราชของพม่าเพื่อช่วงชิงดินแดนและขยายอาณาเขตรวม 5 ครั้งพระนเรศวรทรงเป็นนักรบกล้าที่มีน้ำพระทัยเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก
ในปี พ.ศ. 2127 พระองค์ได้ยกทัพไปตีทัพของพระยาพะสิม ซึ่งยกมาจากหงสาวดีและสมทบกับกองทัพของนรธามังช่อ ซึ่งยกลงมาจากเชียงใหม่เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้แต่ก็ถูกพระนเรศวรตีแตกพ่ายไปทั้งสองทัพ
ในปี พ.ศ. 2128 ทัพเชียงใหม่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาซ้ำอีก พระนเรศวรก็ตีแตกกระเจิงกลับไปอีกทัพเชียงใหม่พ่ายแพ้อย่างยับเยิน และต่อมาพระเจ้านันทบุเรงยกทัพใหญ่มาด้วยพระองค์เอง หมายจะปราบกรุงศรีอยุธยาให้ราบคาบทั้งนี้ในกองทัพของพระองค์ก็มีพระมหาอุปราชาและพระเจ้าตองอูเป็นทัพรองกองทัพพม่ายกเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้
สมเด็จพระนเรศวรทรงคาดการณ์ศึกเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า ได้มีการสะสมเสบียงอาหารเตรียมไว้อย่างบริบูรณ์แม้จะถูกพม่าปิดล้อมไว้ยาวนานสักเพียงใดก็ไม่กระทบกระเทือนด้านขาดแคลนอาหารด้านการรบกับพม่าของพระองค์ก็เปลี่ยนเป็นวิธีการรบแบบกองโจรพระนเรศวรนำทหารจำนวนเพียงส่วนน้อย ยกออกปล้นค่ายพม่าในเวลากลางคืนและตัดเส้นทางการลำเลียงเสบียงอาหารของพม่า ทำให้พม่าอ่อนกำลังลงทีละน้อย
นอกจากนั้นแล้วพระองค์ยังทรงออกรบด้วยพระองค์เอง โดยมีอยู่ครั้งหนึ่งพระนเรศวรนำทหารเข้าปล้นค่ายพระเจ้านันทบุเรงพระองค์ทรงคาบพระแสงดาบไว้แล้วปีนป่ายขึ้นค่ายพม่าติดตามกำจัดกำลังของพวกพม่าถูกทหารของพม่าแทงตกลงมา แต่มิได้เป็นอันตราย (พระแสงดาบที่คาบบุกค่ายพม่าในครั้งนั้นต่อมา ภายหลังจึงได้ชื่อว่า พระแสงดาบคาบค่ายเป็นพระแสงดาบสำคัญที่พระนเรศวรใช้ปืนค่ายพม่าที่ ตำบลบางปะหัน พระนครศรีอยุธยา พระแสงดาบนี้ฝักดาบทำด้วยทอง) พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่จนกระทั่งถึงฤดูฝน ก็รบเอาชนะพระนเรศวรไม่ได้จังต้องยกทัพกลับไป
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2133 พระมหาธรรมราชา พระราชบิดาของพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต ขณะนั้นพระนเรศวรขึ้นครองราชย์มาได้เพียง 8 เดือน ฝ่ายพม่าก็ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกหลาย
ครั้งในปี พ.ศ. 2133 ทัพพม่าภายใต้การนำทัพของพระมหาอุปราชายกเข้ามาทางเมืองสุพรรณบุรีครั้นถึงสุพรรณบุรี กองทัพของพระนเรศวรก็บุกเข้าตีแตกยับเยินอีก พระมหาอุปราชาพ่ายแพ้จนแทบจะเองชีวิตไม่รอด พม่าต้องถอยกลับไป
 ต่อมาในปี พ.ศ. 2135 พระมหาอุปราชาจัดทัพใหญ่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นการแก้ตัวอีกครั้งหนึ่งกำลังทัพของพระมหาอุปราชาซึ่งยกมาครั้งนี้ประกอบด้วยชาวพม่ามอญ และไทยใหญ่ได้แก่กองทัพหงสาวดี ทัพเมืองตองอู ทัพเมืองแปร ได้ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ฝ่ายเมืองกาญจนบุรี หมายเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบข่าวว่าพม่ายกมาทางด่านเจดีย์สามองค์จึงได้ยกทัพออกไปตั้งรับกองทัพพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย เมื่อ พ.ศ. 2135 พระองค์ทรงมอบให้พระยาศรีไสยณรงค์ออกลาดตะเวณเพื่อประมาณกำลังศึกว่ามากน้อยเพียงไร ทั้งได้กำชับไม่ให้ปะทะกับกองทัพพม่าแต่ในที่สุดกองลาดตระเวณของพระยาศรีไสยณรงค์ก็ถูกฝ่ายพม่าโจมตีจนกระทั่งถอยร่น พม่าจึงรุกไล่ย่ามใจ
ขณะเดียวกัน ทัพใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรได้ซุ่มอยู่ข้างทาง เมื่อพม่ารุกไล่เลยเข้าสู่วงล้อมสมเด็จพระนเรศวรจึงสั่งให้ทัพไทยบุกเข้าโจมตีพร้อมกัน พม่าไม่รู้ตัวต่างถูกฆ่าฟันล้มตายระส่ำระสายไม่เป็นขบวน
สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถพระอนุชา จึงไสช้างเข้าไล่ข้าศึกท่ามกลางการต่อสู้ ขณะที่พระองค์ไสช้างไล่ข้าศึกอยู่นั้น ช้างศึกชื่อพระยาไชยานุภาพ เกิดอาการตกมันและฝ่ากองทัพพม่าบุกเลยเข้าไปถึงทัพหลังของพระมหาอุปราชาแม่ทัพนายกองของฝ่ายไทยติดตามไปไม่ทันพระนเศวรและพระเอกาทศรถได้เผชิญหน้ากับพระมหาอุปราชา ซึ่งทั้งสองเคยรู้จักคุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยอยู่หงสาวดี แม้ว่าพระนเรศวรจะอยู่ท่ามกลางข้าศึกอย่างโดดเดี่ยวแต่น้ำพระทัยอันกล้าหาญทำให้พระองค์ไม่ทรงตกพระทัยเลยแม้แต่น้อย  พระองค์กลับไสช้างเข้าขวางหน้าพระมหาอุปราชาแล้วท้าให้ออกมาชนช้างกัน เพื่อเกียรติประวัติแห่งวีรกรรมของแม่ทัพไทยและพม่า ให้ปรากฏแก่นักรบพม่าและศรีอยุธยากันสักครั้ง
พระมหาอุปราชาทรงรับคำท้านั้นทันทีช้างศึกพระยาไชยานุภาพของพระนเรศวรซึ่งกำลังตกมันไม่รอช้าพุ่งเข้าประสานงากับพลายพัทธกอ ช้างทรงของพระมหาอุปราชาอย่างคึกคะนอง พลายพัทธกอเสยเอาช้างพระไชยานุภาพเสียหลักเปิดช่อให้พระมหาอุปราชาฟันพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว พระนเรศวรทรงเบี่ยงพระองค์หลบคมพระแสงของ้าวไปได้ทัน แต่เฉี่ยวไปถูกพระมาลาของพระนเรศวรบิ่นไปเล็กน้อย ในขณะที่ช้างศึกทั้งสองต่อสู้กันอยู่นั้น คราวนี้พลายพัทธกอเกิดเสียหลักบ้าง


สมเด็จพระนเรศวรทรงเงื้อพระแสงของ้าวขึ้นฟันพระมหาอุปราชาที่ไหล่สิ้นพระชมน์บนคอช้างนั่นเอง ส่วนพระเอกาทศรถก็ได้ต่อสู้กับมังจาปะโร จนกระทั่งมีชัยชนะเช่นเดียวกัน กองทัพของพม่าต้องสูญเสียแม่ทัพใหญ่และไพร่พลเป็นอันมาก หมดหนทางจะต่อสู้จึงเลิกทัพกลับหงสาวดี
การชนช้างหรือกระทำยุทธหัตถีครังนั้นกลายเป็นอนุสรณ์ดอนเจดีย์ในยุคหลัง ช้างพระยาไชยานุภาพก็ได้ชื่อว่า เจ้าพระยาปราบหงษา
หลังจากสงครามยุทธหัตถีผ่านไปแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงลงโทษแม่ทัพนายกองที่ทหารไล่ตามพระองค์ไม่ทันในครั้งนั้น ซึ่งได้แก่พระยาจักรี และพระยาคลังโดยพระองค์ทรงมอบให้ยกทัพไปตีเมืองทวายและตะนาวศรีเป็นการแก้ตัวกองทัพที่ออกไปตีเมืองทั้งสองต่างมีชัยกลับมา นับจากนั้นเมืองทวายและตะนาวศรีก็ตกเป็นเมืองขึ้นของไทย
สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ครั้งแล้วครั้งเล่า พระองค์ไม่ทรงหยุดนิ่งในการต่อสู้สร้างกรุงศรีอยุธยา ทรงนำหน้าทหารในสมรภูมิเยี่ยงผู้นำที่ดีพร้อมจะสละพระชนม์ชีพเคียงคู่แม่ทัพนายกองและไพร่พลของพระองค์เมื่อมีชัยชนะในการรบแล้ว พระองค์ก็ทรงใช้เวลาที่มีอยู่ขยายอาณาจักรศรีอยุธยาให้กว้างไกลออกไป ประกาศศักดิ์ศรีของนักรบไทยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ในปี พ.ศ. 2138 พระนเรศวรไม่ยอมรีรอให้ข้าศึกยกเข้ามาใกล้พระองค์ทรงเตรียมทัพศรีอยุธยายกขึ้นไปตีกรุงหงสาวดีเป็นครั้งแรกเป็นการตอบแทนที่พม่ายกมารุกรานไทยหลายครั้งหลายคราวแต่การยกไปในครั้งนั้นกำลังฝ่ายไทยน้อยกว่าจึงกระทำการไม่สำเร็จต่อมา พ.ศ. 2142 พระนเรศวรก็ได้ยกทัพไปตีกรุงหงสาวดีเป็นครั้งที่ 2 การยกไปครั้งนี้พระเจ้านันทบุเรงทิ้งเมืองหนีไปอยู่ที่ตองอูเมื่อพระองค์ยกไปถึงกรุงหงสาวดีปรากฏว่าพวกยะไข่ชิงเข้าปล้นเมืองเสียหายยับเยิน พระองค์จึงทรงกริ้วมากที่มิอาจจะตีกรุงหงสาวดีสมศักดิ์ศรีจึงได้ยกไปตีตองอูแทนทว่ากองทัพของพระองค์ไปจากแดนไกล ทหารเดินทัพก็อ่อนกำลังลง พระองค์จึงยกทัพกลับ
ในปี พ.ศ. 2146 พระเจ้าอังวะ มีพระประสงค์จะขยายอาณาเขตเข้ามาสู่หัวเมืองไทยใหญ่ครั้นพระเจ้าอังวะบุกรุกขยายดินแดนเข้าสู่หัวเมืองดังกล่าวซึ่งเป็นของไทย พระนเรศวรจึงยกกองทัพไปปราบพระเจ้าอังวะ เพื่อยับยั้งการรุกรานและขับไล่ศัตรูไป แต่พระองค์เกิดประชวรเสียกลางทางและเสด็จสวรรคตลงที่เมืองหาง เมื่อปี พ.ศ. 2148 ขณะมีพระชนมายุได้ 50 พรรษา พระองค์ทรงครองราชย์ปกครองกรุงศรีอยุธยามาเป็นเวลา 15 พรรษา พระเอกาทศรถพระอนุชาได้อัญเชิญพระบรมศพของสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา
หลังจากพระนเรศวรมหาราชทรงสิ้นพระชนม์แล้ว วีรกรรมและเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญแก่อนุชนหลังตลอดมา เพื่อเป็นการระลึกและเป็นอนุสรณ์แก่พระองค์ท่าน จึงมีการสร้างวัตถุถาวรไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย คือ พระสถูปพระนเรศวร
พระสถูปพระนเรศวร ตั้งอยู่ที่เมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตัวพระสถูปมีฐานกว้างประมาณ 30 เมตร สูง 26 เมตร ฐานเจดีย์เป็นรูป 9 เหลี่ยม มีองค์ระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยม มีซุ้ม 4 ซุ้ม ซึ่งใช้เป็ฯที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในท่าประทับยืน ทรงสุวรรณภิงคารหลั่งทักษิโณทกลงบนพื้นดินบริเวณรอบ ๆ พระสถูปเจดีย์รั้วคอนกรีตและลานเหล็กโดยรอบ ซึ่งผู้ออกแบบสร้างคือกรม
ศิลปากรและเริ่มก่อสร้างพระสถูปตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2512 แล้วเสร็จเมื่อวันที่19 กันยายน พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปกระทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้สถิตย์ที่พระสถูปนี้ เพื่อระลึกถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีต ครั้งที่พระนเรศวรมุ่งมั่นที่จะไปตีเมืองพม่า ได้ยกมาตั้งทัพที่เชียงใหม่แล้วย้ายไปที่เมืองหาง ยังมิทันได้ยกเข้าตีกรุงหงสาวดีก็เสด็จสวรรคตเสียก่อนเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2148
อนุสรณ์ดอนเจดีย์ อนุสรณ์สำคัญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอีกแห่งหนึ่งก็ คือ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ พระเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึง วีรกรรมการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งที่ชนช้างกับพระมหาอุปราชาและทรงชนะพระมหาอุปราชา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2135
อนุสาวรีย์ อนุสรณ์ดอนเจดีย์สร้างเป็นรูปช้างศึกจำลอง สมเด็จพระนเรศวรประทับนั่งอยู่บนหลังช้างทรง ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอศรีประจัน จังหวัดสุพรรณบุรี กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ อนุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2502
อนุสรณ์ดอนเจดีย์กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นการเทิดพระเกียรติวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่งของกรุงศรีอยุธยาและของชาติไทยเป็นเครื่องเตือนใจแก่อนุชนรุ่นหลังอีกด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น